00:30

จังหวัดศรีสะเกษ

ศรีสะเกษแดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดี
มีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน
หลากล้วนวัฒนธรรม เลิศล้ำสามัคคี

http://www.bbt.ac.th/entertain/main/stone_temple_01.jpg
ปราสาทเขาพระวิหาร


ศรีสะเกษเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนล่างที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เคยเป็นชุมชนที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมานับพันปี นับตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ และมีชนเผ่าต่างๆ อพยพมาตั้งรกรากในบริเวณนี้ ได้แก่ พวกส่วย ลาว เขมร และเยอ
ศรีสะเกษเดิมเรียกกันว่า เมืองขุขันธ์ เมืองเก่าตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน ตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหินในปัจจุบัน ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเมื่อ พ.ศ. 2302 สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีหลวงแก้วสุวรรณซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรภักดีเป็นเจ้าเมืองคนแรก ล่วงถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ย้ายเมืองขุขันธ์มาอยู่ที่บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน แต่ยังคงใช้ชื่อว่าเมืองขุขันธ์จนถึง พ.ศ. 2481 จึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดศรีสะเกษตั้งแต่นั้นมา จังหวัดศรีสะเกษมีเนื้อที่ประมาณ 8,839 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดยโสธร และร้อยเอ็ด
ทิศใต้ ติดต่อประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย โดยมีเทือกเขาดงรักเป็นแนวกั้นเขตแดน
ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดอุบลราชธานี

การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี เข้าเส้นทางโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) เข้าตัวเมืองศรีสะเกษ รวมระยะทางประมาณ 571 กิโลเมตร
รถประจำทาง จากกรุงเทพฯมีรถโดยสารประจำทางทั้งธรรมดาและปรับอากาศออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียด โทร. 0 2936 2852–66 สถานีขนส่งจังหวัดศรีสะเกษ โทร. 0 4561 2500
รถไฟ จากสถานีกรุงเทพฯ(หัวลำโพง) และสถานีบางซื่อ มีรถธรรมดา รถเร็ว และรถด่วน สายกรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ ระยะทาง 515 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 223 7020 สถานีรถไฟศรีสะเกษ โทร. 0 4561 1525
การเดินทางในตัวเมือง มีรถสามล้อรับจ้างอยู่ทั่วไป นอกจากนั้นยังมีรถโดยสารจากตัวอำเภอเมืองศรีสะเกษไปยังอำเภอต่าง ๆ ทุกอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงด้วย ระยะทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง อุบลราชธานี 61 กิโลเมตร / ยโสธร 159 กิโลเมตร / สุรินทร์ 143 กิโลเมตร

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่าง ๆ
อำเภอกันทรารมย์ 26 กิโลเมตร
อำเภอกันทรลักษ์ 63 กิโลเมตร
อำเภอขุนหาญ 60 กิโลเมตร
อำเภอขุขันธ์ 49 กิโลเมตร
อำเภอน้ำเกลี้ยง 44 กิโลเมตร
อำเภอโนนคูณ 56 กิโลเมตร
อำเภอบึงบูรพ์ 42 กิโลเมตร
อำเภอเบญจลักษ์ 80 กิโลเมตร
อำเภอปรางค์กู่ 60 กิโลเมตร
อำเภอพยุห์ 21 กิโลเมตร
อำเภอไพรบึง 42 กิโลเมตร
อำเภอภูสิงห์ 28 กิโลเมตร
อำเภอเมืองจันทร์ 40 กิโลเมตร
อำเภอยางชุมน้อย 32 กิโลเมตร
อำเภอราษีไศล 38 กิโลเมตร
อำเภอวังหิน 35 กิโลเมตร
อำเภอศรีรัตนะ 37 กิโลเมตร
อำเภอห้วยทับทัน 37 กิโลเมตร
อำเภออุทุมพรพิสัย 24 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ 29 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอศิลาลาด 50 กิโลเมตร

แผนที่จังหวัดศรีสะเกษ

แผนที่ตัวเมืองศรีสะเกษ

ข้อมูลท่องเที่ยว อ.เมือง

อำเภอเมือง
วัดมหาพุทธาราม ตั้ง อยู่ใจกลางเมืองศรีสะเกษ มีวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองและเป็นที่เคารพ สักการะของชาวศรีสะเกษคือ “หลวงพ่อโต” เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางมารวิชัย มีความสูงจากฐานถึงยอดเกศ 6.85 เมตร หน้าตักกว้าง 3.50 เมตร เดิมเป็นพระพุทธรูปศิลาจำหลัก สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยขอมซึ่งมีอายุร่วมพันปีมาแล้วแต่มาสร้าง เพิ่มเติมขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด
สวนสมเด็จศรีนครินทร์ ตั้ง อยู่ในวิทยาลัยเกษตรกรรม จังหวัดศรีสะเกษ ถนนกสิกรรม ตำบลหนองครก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 237 ไร่ ลักษณะเป็นสวนป่าในเขตเมือง มีต้นลำดวนขึ้นอยู่ หนาแน่นเป็นดงใหญ่จำนวนกว่าสี่หมื่นต้น เหมาะแก่การทัศนศึกษาในเชิงพฤกษศาสตร์ ต้นลำดวนซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หอมนี้จะผลิดอกหอมอบอวลไปทั่วในราวเดือนมีนาคมของ ทุกปี และเนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้มีความเกี่ยวพันกับชื่อ ศรีนครลำดวน ในอดีต จึงได้นำเอาต้นลำดวนมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีสวนสัตว์ และสวนสาธารณะตกแต่งสวยงามร่มรื่นเป็นแหล่งพักผ่อนของประชาชนทั่วไป มีบึงน้ำสำหรับพายเรือเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ
ตึกขุนอำไพพาณิชย์ ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองฯ ที่ถนนอุบล เป็นตึกเก่าของขุนอำไพพาณิชย์ (อินทร์ นาคสีหราช) คหบดีชาวศรีสะเกษ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2468 โดยช่างชาวจีนและชาวมอญ ตัวอาคารมีรูปทรงและ ลวดลายปูนปั้นที่งดงามตามคติความเชื่อของชาวจีน ได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีจนได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการดีเด่นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2530 ปัจจุบันกรมศิลปากรไก้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
พระธาตุเรืองรอง ตั้งอยู่ที่บ้านสร้างเรือง ตำบลหญ้าปล้อง ห่างจากเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2373 สายศรีสะเกษ-ยางชุมน้อย ประมาณ 7.5 กิโลเมตร เป็นพระธาตุที่ สร้างขึ้นโดยผสมศิลปอีสานใต้สี่เผ่าไทย ได้แก่ ลาว ส่วย เขมร เยอ มีความสวยงามและเป็น เอกลักษณ์อย่างลงตัว พระธาตุมีความสูง 49 เมตร แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ชั้นที่ 1 ใช้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ชั้นที่ 2-3 เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านสี่เผ่าไทย ชั้นที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ชั้นที่ 5 ใช้สำหรับการทำสมาธิ และชั้นที่ 6 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและ เป็นที่ชมทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ
ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาจมีการบูรณะหรือสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ สังเกตได้จาก มีสถาปัตยกรรมแบบบายนอยู่ด้วย สิ่งก่อสร้างดังกล่าวเรียกกันในสมัยนั้นว่า “อโรคยาศาล” หมายถึง สถานพยาบาล หรือสุขศาลาประจำชุมชนนั่นเอง


อำเภออื่น ๆ

อำเภออุทุมพรพิสัย
ปราสาทวัดสระกำแพงใหญ่ ตั้งอยู่ที่บ้านกำแพงใหญ่ ตำบลสระกำแพงใหญ่ การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ห่างจากตัวจังหวัด 26 กิโลเมตรและ ห่างจากตัวอำเภอ 2 กิโลเมตร เป็นปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด ลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์บนฐานเดียวกัน เรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์ประธาน
อยู่ตรงกลาง ก่อด้วยหินทราย มีอิฐแซมบางส่วน มีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างบนแท่นเหนือหน้ากาล ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ เป็นปรางค์อิฐ มีส่วนประกอบตกแต่งที่เป็นหินทราย เช่น ทับหลัง กรอบหน้าบันและกรอบเสาประตู ด้านหลังปรางค์องค์ทิศใต้มีปรางค์ก่ออิฐอีก 1 องค์ ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคตก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศ
ส่วนวิหารที่ก่อด้วยอิฐซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือมีทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนือพระยา อนันตนาคราชท่ามกลางเกษียรสมุทร และที่วิหารก่ออิฐทางด้านทิศใต้มีทับหลังรูปพระอิศวรกับพระอุมาประทับนั่งเหนือนนทิ
ปัจจุบันปราสาทแห่งนี้อยู่ในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร และได้มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ทับหลังจำหลักภาพศิวะนาฏราช พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะและยังพบพระพุทธรูปนาคปรก พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพิมพ์ดินเผา ฯลฯ
จากหลักฐานลวดลายที่ปรากฏบนหน้าบัน ทับหลัง และโบราณวัตถุต่างๆ โดยเฉพาะจารึกที่หลืบประตูปราสาทสระกำแพงใหญ่ สรุปได้ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ และเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

อำเภอห้วยทับทัน
ปราสาทบ้านปราสาท (ปราสาทห้วยทับทัน) ตั้งอยู่ที่วัดปราสาทพนาราม บ้านปราสาท จากตัวเมืองศรีสะเกษ การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 226 ประมาณ 39 กิโลเมตร ถึงอำเภอห้วยทับทัน แล้วเลี้ยวขวาตามทางอีก 8 กิโลเมตร
เป็นโบราณสถานแบบขอมแห่งหนึ่งที่ถูกดัดแปลงในสมัยหลังเช่นเดียวกับปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ โดยเฉพาะส่วนหลังคาซึ่งคล้ายคลึงกันมากแต่มีขนาดสูงกว่าประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐาน ศิลาแลงเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตูก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าเดิมมี 3 หรือ 4 ทิศ ปัจจุบันคงเหลือเพียงด้านทิศใต้เท่านั้น
ปรางค์องค์กลางขนาดใหญ่กว่าปรางค์อีก 2 องค์ ที่ขนาบข้างเล็กน้อยแต่ส่วนหลังคาเตี้ยกว่า เป็นรูป สี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง มีประตูเดียวด้านหน้าทางทิศตะวันออก มีกรอบประตูหินทราย และทับหลังติดอยู่ เป็นภาพบุคคลยืนอยู่เหนือหน้ากาล ส่วนท่อนพวงมาลัยมีลายมาแบ่งที่เสี้ยวภาพบุคคลยืนในซุ้มเรือนแก้ว ไม่อาจสันนิษฐานว่าเป็นผู้ใดด้วยลายสลักยังไม่แล้วเสร็จ
ปรางค์สององค์ที่ขนาบข้างขนาดเดียวกันได้รับการดัดแปลงรูปแบบไปมาก โดยเฉพาะส่วนหลังคาและประตู ซึ่งก่อทึบหมดทุกด้าน ยังคงปรากฏกรอบประตูหินทราย และชิ้นส่วนทับหลังสลักภาพการกวนเกษียรสมุทรตกอยู่หน้าประตูปรางค์องค์ที่อยู่ด้านทิศใต้
จากลักษณะทางด้านศิลปกรรมของทับหลังที่ปรากฏอาจสันนิษฐานได้ว่าปราสาทแห่งนี้มีอายุอยู่ใน ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ร่วมสมัยศิลปะขอมแบบคลัง-บาปวนของเขมร และต่อมาได้รับการดัดแปลงในสมัยหลัง


อำเภอปรางค์กู่
ปราสาทปรางค์กู่ ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ อยู่ห่างจากศรีสะเกษเป็นระยะทาง ประมาณ 70 กิโลเมตร สามารถเดินทางเข้าถึงได้สองเส้นทางคือ ใช้เส้นทางศรีสะเกษ-สุรินทร์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวง 2234 หรือใช้เส้นทางศรีสะเกษ - ขุขันธ์ แล้วแยกขวาเข้าเส้นทาง 2167 ปรางค์กู่อยู่ห่างจากตัวอำเภอ 10 กิโลเมตร ปรางค์องค์นี้สร้างด้วยอิฐเรียงแผ่นโตๆ เหมือนปราสาทศรีขรภูมิที่จังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นศาสนสถานสมัยขอมที่เก่าแก่มาก มีอายุกว่าพันปี มาแล้ว ด้านหน้าปรางค์กู่มีสระน้ำขนาดใหญ่ เป็นทำเลพักหากินของนกเป็ดน้ำ ซึ่งมีมาก ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป
ปราสาทบ้านสมอ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านทามจาน ตำบลสมอ ห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 220 และ 2167 ประมาณ 52 กิโลเมตร ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นปราสาทขอมโบราณขนาดเล็ก ภายในขององค์ปรางค์มีรูปประติมากรรมจำหลัก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18

อำเภอขุขันธ์
ปราสาทตาเล็ง ตั้ง อยู่ที่หมู่ 6 บ้านปราสาท ตำบลกันทรารมย์ การเดินทางจากจังหวัดศรีสะเกษ ตามทางหลวงสาย 220 จนถึงอำเภอขุขันธ์เลี้ยวขวาผ่านสถานีตำรวจไป 3 กิโลเมตร ถึงสามแยกเลี้ยวซ้าย 300 เมตร แล้วเลี้ยวขวาตรงไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร จนถึงบ้านปราสาท แล้วเลี้ยวขวาอีกครั้ง ปราสาทตั้งอยู่ด้านขวามือ ปราสาทตาเล็งลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวตั้งอยู่บนฐานองค์ปรางค์มีผังเป็นรูป สี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสองหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบันเหลือเพียงผนังด้านหน้าและผนังด้านข้างบางส่วน มีประตูเข้าได้เพียงประตูเดียวด้านหน้า อีกสามด้านเป็นประตูหลอก ที่สำคัญคือเสาติดผนังของประตูหน้าทั้งสองข้างยังคงมีลวดลายก้านขดสลักเต็ม แผ่นอย่างสวยงาม สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16–17
นอกจากนี้บนพื้นรอบๆ ยังมีทับหลังวางอยู่หลายชิ้น ชิ้นหนึ่งวางอยู่หน้าประตูด้านทิศเหนือ สลักเป็น ภาพพระอินทร์ทรงช้างในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล ซึ่งคายท่อนพวงมาลัยออกมาจากปากและยึดท่อนพวงมาลัยนั้นไว้ด้วยมือทั้งสอง ข้าง ทับหลังชิ้นอื่นๆ ลักษณะคล้ายกัน ทับหลังชิ้นหนึ่งมีแนวภาพตอนบนสลักเป็นรูปฤาษีนั่งเรียงกันในท่าสมาธิ 7 ตอน จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมที่ปรากฏกล่าวได้ว่าปราสาทตาเล็ง สร้างขึ้นในศิลปะขอมแบบบาปวน ซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1560–1630

อำเภอขุนหาญ
วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว (วัดล้านขวด) ตั้งอยู่ในเขตสุขาภิบาล การเดินทาง จาก ศรีสะเกษไปอำเภอขุนหาญสามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 211 และ 2111 ผ่านอำเภอพยุห์ อำเภอไพรบึงไปขุนหาญระยะทางประมาณ 61 กิโลเมตร สิ่งปลูกสร้างภายในตกแต่งด้วย
ขวดแก้วหลากสีหลายแบบนับล้านใบที่ชาวบ้านได้ช่วยกันบริจาค เป็นวัดที่มีลักษณะสวยงามแปลกตา โดยเฉพาะ ศาลาใหญ่ที่เรียกว่า ศาลาฐานสโม มหาเจดีย์แก้ว และนอกจากนี้ยังมีสิมน้ำ (โบสถ์) ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ซึ่งมีความวิจิตรงดงามมาก

ปราสาทตำหนักไทร (ปราสาททามจาน) ตั้งอยู่ที่บ้านตำหนักไทร ตำบลบักดอง ริมทางหลวงหมายเลข 2127 (ขุนหาญ-บ้านสำโรงเกียรติ) ห่างจากอำเภอขุนหาญ 20 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด 81 กิโลเมตร เป็นปราสาทอิฐหลังเดียวบนฐานศิลาทราย ก่อด้วยอิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเข้าออกได้ด้านเดียว คือ ด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นด้านหน้า อีก 3 ด้าน เป็นประตูหลอก คือ สลักเป็นรูปบานประตูลงในเนื้ออิฐ บริเวณทางเข้ามีสิงห์จำหลักสองตัว เฉพาะด้านหน้ากรอบประตูเป็นหินทราย แต่เดิมเคยมีทับหลังเป็นภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีพระชายาลักษมี นั่งอยู่ที่ปลายพระบาท และมีพระพรหมผุดมาจากพระนาภี สองข้างพระพรหมเป็นรูปฤาษีและบุคคลนั่งในซุ้มเรือนแก้ว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ปราสาทตำหนักไทรเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ อายุราว พุทธศตวรรษที่ 16-17
น้ำตกสำโรงเกียรติ (น้ำตกปีศาจ) ตั้งอยู่ที่บ้านสำโรงเกียรติ มีต้นกำเนิดจากภูเขากันทุง ในเทือกเขาบรรทัด เป็นน้ำตกขนาดกลาง ตกจากหน้าผาสูง 8 เมตร มีน้ำมากในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ เหนือน้ำตกเป็นธารน้ำไหลไปตามลานหิน จะมีความสวยงามในฤดูฝน
การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2111 เมื่อถึงเขตอำเภอขุนหาญ มีทางแยกเข้าไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด 81 กิโลเมตร
น้ำตกห้วยจันทร์ (น้ำตกกันทรอม) มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด บริเวณภูเสลา เป็นน้ำตกที่สวยงามไหลลดหลั่นมาตามชั้นหินก่อนไหลลงสู่แม่น้ำมูล มีน้ำมากในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ บริเวณร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด เหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2236 (กันทรอม-บ้านสำโรงเกียรติ) ห่างจากอำเภอขุนหาญ 24 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด 85 กิโลเมตร


อำเภอกันทรลักษ์
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ตั้ง อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 130 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น กับอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานีได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2541 สภาพภูมิประเทศทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาตามแนวทิวเขาพนมดงรักกั้นชายแดน ไทย-กัมพูชา พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยหากินข้ามไปมาในผืน ป่าระหว่างสองประเทศได้แก่ หมูป่า กวาง เก้ง กระต่าย กระรอก ชะนี ชะมด เป็นต้น อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารยังมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

ผามออีแดง ตั้งอยู่ที่ชายแดนไทย กัมพูชา เป็นหน้าผาหินสีแดงที่มีทัศนียภาพกว้างไกลสุดตาและจากจุดนี้นักท่องเที่ยว สามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารได้ นับเป็นจุดชมวิวในมุมสูงที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคอีสาน
ภาพสลักนูนต่ำ อยู่ทางทิศใต้ของผามออีแดง มีบันไดให้ลงไปชมได้สะดวก เป็นภาพเทพสามองค์ เชื่อว่าเป็นที่ซ้อมมือของช่างในการแกะสลักก่อนเริ่มการแกะสลักจริงที่ปราสาทเขาพระวิหาร
สถูปคู่ ชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของผามออีแดง ตัวสถูปทำจากหินทรายตัดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ด้านบนกลมมนตั้งอยู่คู่กัน ข้างในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของ เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของสมัยนั้น
ปราสาทโดนตวล สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 อยู่บริเวณบ้านภูมิซรอล เป็นปราสาทหินแบบขอม ตั้งอยู่ในเขตประเทศไทยห่างจากหน้าผาชายแดนไทย-กัมพูชา ประมาณ 300 เมตร มีตำนานเล่าว่านามนมใหญ๋ (เนียงเดาะทม) ได้แวะพักที่แห่งนี้ในขณะที่เดินทางไปเฝ้ากษัตริย์พระองค์หนึ่ง
น้ำตกและถ้ำขุนศรี น้ำตกอยู่เหนือถ้ำขุนศรีสูง 3 ชั้น ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของสระตราวใกล้เส้นทางเดินขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร ส่วนถ้ำขุนศรีภายในมีขนาดกว้างเชื่อกันว่าเป็นที่พักของขุนศรี ขณะมาควบคุมการตัดหินบริเวณสระตราวเพื่อใช้สร้างปราสาทเขาพระวิหาร
เขื่อนห้วยขนุน เป็นอ่างเก็บน้ำชลประทานและเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เขื่อนห้วยขนุน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 15 กิโลเมตร มีทิวทัศน์สวยงามเหมาะแก่การ พักผ่อนเที่ยวชมธรรมชาติ และเข้าค่ายกางเต็นท์พักแรม
เส้นทางศึกษาธรรมชาติกล้วยไม้เขาพระวิหาร ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีกล้วยไม้หลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรมากมายเหมาะแก่การศึกษาหาความรู้
ช่องอานม้า เป็นจุดผ่อนปรนในการค้าขายและผ่านแดนระหว่างไทย-กัมพูชา อยู่ที่ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเฉพาะวันอังคารและวันพฤหัสบดี
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรีเลี้ยวขวาสู่ทางหลวง หมายเลข 2 (มิตรภาพ) ก่อนถึงอำเภอสีคิ้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 24 ผ่านอำเภอปักธงชัย อำเภอสังขะ และอำเภอขุขันธ์ ถึงสี่แยกตัดกับทางหลวงหมายเลข 221 เลี้ยวขวาเข้าสู่อำเภอกันทรลักษ์ แล้วต่อไปยังที่ทำการอุทยานฯ หรือ จากจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2178 และ 221 ผ่านอำเภอวารินชำราบ อำเภอสำโรง อำเภอ เบญจลักษ์ และอำเภอกันทรลักษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่พักและสถานที่กางเต็นท์ได้ที่ศูนย์ บริการ นักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร 0 9522 4265 หรือ ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 0 2579 7223 , 0 2579 5734
ปราสาทเขาพระวิหาร อยู่ห่างจากอำเภอกันทรลักษ์ ประมาณ 35 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักในเขตประเทศกัมพูชา บริเวณที่ติดกับผามออีแดงของประเทศไทย ตัวปราสาทหันหน้ามาทางด้านที่ติดกับประเทศไทย ปราสาทเขาพระวิหารเดิมอยู่ในความ ปกครองดูแลของไทย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2483 และหลังจากการตัดสินของศาลโลก ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 เป็นต้นมาได้เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของประเทศกัมพูชาสืบมาจนถึง ปัจจุบัน สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดให้เข้าชมปราสาทเขาพระวิหารได้ที่ประชา สัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ โทร. 0 4561 2545
การเข้าชมปราสาทเขาพระวิหาร นักท่องเที่ยวสามารถสามารถเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารที่อยู่ในเขตแดนไทย โดยคนไทยเสียค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานคนละ 20 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท และ ค่าผ่านแดนออกนอกประเทศคนละ 5 บาท เมื่อจะเข้าชมปราสาทเขาพระวิหาร กัมพูชาเก็บค่าธรรมเนียมชาวไทยคนละ 50 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 200 บาท
น้ำตกภูละออ เป็นน้ำตกขนาดเล็กจะสวยงามในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ ทางเดินท้าวจากบริเวณลานจอดรถถึงน้ำตกในระยะทางไป-กลับประมาณ 4 กิโลเมตร ได้รับ การพัฒนาให้เป็นเส้นทางที่ให้ความรู้เรื่องพืชพันธุ์และสภาพภูมิประเทศ ซึ่งเหมาะแก่ การท่องเที่ยวในลักษณะเดินป่าศึกษาธรรมชาติ


เทศกาลและงานประเพณี
งานเทศกาลดอกลำดวน จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 15–17 มีนาคมของทุกปี ณ สวนสมเด็จศรีนครินทร์ เป็นช่วงที่ดอกลำดวนในสวนกำลังบาน ภายในงานประกอบด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสี่เผ่า คือ เขมร ส่วย ลาว เยอ การออกร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม สินค้าพื้นเมือง การแสดงละครประกอบแสงเสียงตำนานการสร้างเมือง
งานเทศกาลเงาะทุเรียนศรีสะเกษ จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ หรืออำเภอขุนหาญ โดยจะจัดสลับกันแห่งละปี ภายในจะมีกิจกรรมมากมาย เช่น การออกร้านจำหน่ายพืชผักผลไม้ศรีสะเกษนานาชนิด เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด สะตอ ยางพารา เป็นต้น การจัดขบวนแห่รถประดับด้วยผลไม้ การจัดนิทรรศการทางวิชาการ และการจัดกิจกรรมคาราวานชมสวนชิมผลไม้ศรีสะเกษ

การแข่งขันวิ่งฮาล์ฟและควอเตอร์มาราธอนสู่ผามออีแดง จัดขึ้นในวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคมของทุกปี บนเส้นทางขึ้นสู่เขาพระวิหาร ระหว่างหมู่บ้านภูมิซรอล-ผามออีแดง อำเภอกันทรลักษ์ เนื่องจากเป็นเส้นทางขึ้นเขาสู่ชายแดนที่ต้องวิ่งฝ่าสายหมอกในช่วงปลายฤดูฝน จึงนับเป็นเส้นทางที่ท้าทายและเป็นสนามประลองกำลังที่นักกีฬาวิ่งมาราธอนให้ ความสนใจมากอีกแห่งหนึ่ง
สินค้าที่ระลึก ได้แก่ ผ้าไหม และผ้าฝ้ายลายขิต ทอกันมากที่อำเภอบึงบูรพ์และอุทุมพรพิสัย สินค้าหัตถกรรม เช่น ครุน้อย เกวียนน้อย รวมทั้งตะกรัาและกระเป๋าจักสาน ซึ่งทำด้วยฝีมืออันประณีต หาซื้อได้บริเวณถนนราชการรถไฟ นอกจากนี้ยังมีสินค้าประเภทอาหาร เช่น ไข่เค็มอำเภอไพรบึง หอมแดง กระเทียม และกระเทียมโทนดองน้ำผึ้งคุณภาพดี ที่หาซื้อได้ทั่วไป


ปราสาทเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ

ปราสาทเขาพระวิหาร ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงเร็ก (ดองเร็ก)ภาษาเขมรแปลว่า ภูเขาไม้คาน ซึ่งกั้นพรหมแดนระหว่าง ไทยกับกัมพูชา มีความสูงจากพื้นดิน 547 เมตร และระดับความสูง 657 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล พระวิหารหรือในภาษาเขมรเรียกว่า เปรียะวิเหียร หมายถึงสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ที่ตั้งของศาสนสถานแห่งนี้รู้จักกันในนาม พนมพระวิหาร อันหมายถึง บรรพตแห่งศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ สำหรับสถานที่ตั้งและทิศทางปราสาทเขาพระวิหารนั้น ปรากฏว่าปราสาทแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศเหนือแทนการหันไปสู่ทิศตะวันออก ดังเช่นศาสนสถานแบบเขมรโดยทั่วไป โดยหลักการแล้วการสถาปนาปราสาทขึ้นมีจุดประสงค์หลักเพื่อ การรังสรรค์ที่ประทับของเทพเจ้าตามแบบจำลองของพระราชวังบนสรวงสวรรค์ ปราสาทเขาพระวิหาร ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาทราย จำแนกออกเป็นประเภทต่างๆได้แก่ ปราสาทประธาน ระเบียงคด โคปุระ อาคารรูปกากบาท วิหาร บรรณาลัย และบันไดนาคพร้อมทางเดิน องค์ประกอบทั้งหมดของศาสนสถานแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาลาดลงตามไหล่เขาพระ วิหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงเร็ก ในวัฒนธรรมเขมรได้ให้ความสำคัญแก่ยอดเขาโดยถือว่ายอดเขาเป็นสถานที่ซึ่งได้ รับการเลือกสรรมาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ตั้งแต่กลางสมัยพุทธศตวรรษที่ 15 ได้เริ่มนิยมสร้างศาสนสถานบนยอดเขาธรรมชาติตามความหมายของศาสนบรรพต เหนือยอดเขาพระวิหารซึ่งถือว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่สถิตของ เทพเจ้า โดยปกติแล้วทิศของศาสนสถานของเขมรทั้งหมดจะหันหน้าออกไปทางทิศตะวันออก แต่บางครั้งก็ต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับทางภูมิศาสตร์
ปราสาทเขาพระวิหารปัจจุบันอยู่ภายใต้การครอบครองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนกัมพูชา ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอ กันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ
การเข้าชม เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.00 น . – 16.30 น.
ค่าเข้าชม ต้องเสียค่าธรรมเนียมสองด่าน คือค่าผ่านด่านเขาพระวิหารชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 200บาท และค่าเข้าชมเขาพระวิหารที่เป็นการเก็บของด่ากัมพูชา ชาวไทยผู้ใหญ่ 50 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 200 บาท
ปราสาทเขาพระวิหารเปรียบดังวิหารสวรรค์ของผู้คนในดินแดนเขมรต่ำและในเขตพนม ดงเร็ก ปราสาทเขาพระวิหารนี้มีลำตราวเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติร่วมกันของชุมชน ยอดเขาพระวิหารถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่ออำนาจที่นอก เหนือธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของสรรพสิ่งของชนพื้นเมือง ก่อนจะมีการสถาปนาให้สถานที่แห่งนี้เป็น ศรีศิขรีศวร ที่ประดิษฐานศิวะลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์ ตามคติความเชื่อในลัทธิเทวราชาของขอม โดยเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ขอมในสมัยพระเจ้าโสรวรมันที่ 1 ผู้สร้างเมืองยโสธรปุระ สมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 (พุทธศตวรรษ ที่ 16) ได้ทรงสถาปนาให้เขาพระวิหารเป็นที่ประดิษฐาน กมรเตงชคตศรีศิขรีศวร เพื่อหลอมรวมความหลากหลายของผู้คนพื้นเมืองหลากวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ทั้ง พวกจาม ขอม ส่วยให้มี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในด้านระบบความเชื่อ โดยผสานเอาลัทธิเทวราชา อันมีนัยถึงการสร้างความสมานฉันท์ในทางการเมืองและวัฒนธรรมระหว่างผู้คนใน ดินแดนเขมรต่ำกับเขาดงเร็ก ซึ่งหมายถึงการที่คนพื้นเมืองยอมรับในพระราชอำนาจของกษัตริย์ขอม ดังที่พระองค์ได้โปรดให้ผู้นำในท้องถิ่นเดิมแถบเขาพระวิหารสาบานตนแสดงความ จงรักภักดีต่อกมรเตงชคตศรีศิขเรศวร ที่หน้าบันของภวาลัย อันเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ มีภาพจำหลักรูปพระศิวะฟ้อนรำเหนือศีรษะช้าง แม้ว่าตัวปราสาทจะถูกสร้างโดยกษัตริย์ขอม แต่ทางขึ้นปราสาทและภวาลัยหันหน้ามาทางทิศเหนือสู่เขตอิสานใต้ของประเทศไทย แสดงถึงการเป็นที่สักการะของผู้คนในแถบนี้ และสอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศสำหรับผู้คนในดินแดนเขมรต่ำ มีทางขึ้นที่สูงชันมาก อยู่ทางด้านตะวันออกของปราสาททางช่องแคบที่เรียกว่าช่องบันไดหัก ปราสาทเขาพระวิหารได้เป็นศูนย์กลางความเชื่อในระดับลัทธิเทวราชและเป็นศูนย์ รวมแห่งพิธีกรรมการนับถือบรรพบุรุษของผู้คนในท้องถิ่น มีการอุทิศถวายเทวสถานด้วยที่ดิน ข้าทาส วัตถุสิ่งของที่ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนรอบปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้ เคียง ในบริเวณใกล้ๆปราสาทพระวิหารยังมีสถานที่น่าสนใจคือภาพแกะสลักนูนสูงที่ผามอ อีแดง และสถูปคู่ อันเป็นโบราณสถานรูปทรงแปลกตาตั้งอยู่คู่กันสองหลัง
สถาปัตยกรรม
ปราสาทเขาพระวิหาร ตั้งอยู่บนยอดเขาลาดลงมาตามไหล่เขาพระวิหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงเร็ก การสถาปนาปราสาทขึ้นบนยอดเขาธรรมชาตินี้ด้วยมุ่งหมายที่จะให้เป็นศาสนบรรพต ซึ่งถือว่าภูเขาศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่สถิตของเทพเจ้าเป็นสำคัญ
สำหรับทิศทางของปราสาทแห่งนี้ปรากฏว่าหันไปทางทิศเหนือ ซึ่งแตกต่างจากปราสาทอื่นๆ ซึ่งตามปกติมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สาเหตุที่หันหน้าไปทางทิศเหนือ ซึ่งนอกจากสภาพภูมิศาสตร์เป็นเครื่องกำหนดแล้วก็น่าจะเกิดจากปัจจัยอื่นบาง ประการที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับดินแดนเขมรสูงเป็นพิเศษ
ปราสาทเขาพระวิหารมีลักษณะที่แผนผังที่ใช้แกนเป็นหลักซึ่งความนิยมแผนผัง เช่นนี้ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 กลุ่มของอาคารหลักซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาประกอบด้วยปราสาทประธานเป็นจุศูนย์ กลางหันหน้าไปทางทิศเหนือล้อมรอบด้วยระเบียงคดทั้งสี่ด้าน ปราศจากบรรณาลัยขนาบเบื้องหน้า ด้วยเหตุนั้นปราสาทประธานนี้จึงโดเด่นบริเวณกึ่งกลางของลานชั้นในโดยไม่มี อะไรบดบัง ลักษณะของแผนที่เช่นนี้แสดงให้เห็นถึง การวางผังที่กำหนตำแหน่งอาคารมีความสมบูรณ์ลงตัวตั้งแต่แรกเริ่มของการก่อ สร้าง โดยไม่มีการแก้ไขต่อเติมบริเวณลานชั้นในภายหลัง
ปราสาทประธาน ตั้งอยู่กลางลานชั้นในสุด ประกอบด้วยครรภคฤหะ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
ออกมุมตั้งบนฐานปราสาทประธาน ซึ่งเรียกว่าวิมาน มีทางเข้าทั้งสี่ทิศได้แก่ ทิศเหนืออันเป็นทางเข้าสำคัญ มีอันตราละ เชื่อมต่อกับมณฑป ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ ในขณะที่มุขทางเข้าวิมานอีก 3 ทางอันได้แก่ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้มีลักษณะเหมือนกันโดยทำเหมือนกับเป็นทางเข้าสู่คฤหะโดยตรง ตามปกตินั้นสถาปัตยกรรมเขมรคงมีลักษณะเช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมอินเดีย ซึ่งมีมณฑปตั้งอยู่เกือบเสมอทิศตะวันออก ด้วยเหตุนั้นศาสนสถานเขมรโดยทั่วไปจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทิศ ที่พระอาทิตย์ขึ้น อาจจะมีเหตุผลเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อโบราณว่า แสงสว่างของดวงอาทิตย์ได้ก่อให้เกิดพลังแก่รูปเคารพ
ฐานและลวดลายเครื่องประดับซึ่งประกอบด้วยฐานปัทม์และฐานเขียง ฐานเหล่านี้มีความสูงและชั้นลวดลายซึ่งแสดงถึงความสำคัญอันต่อเนื่องของแต่ ละส่วนของศาสนสถานแห่งนี้ ส่วนตัวเรือนธาตุ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสออกมุมมีมุขปราสาทประกอบอยู่ทั้งสี่ด้าน จึงทำให้แผนผังเป็นรูปกากบาทโดยมีมุขปราสาทด้านหน้า เป็นมุขที่มีความสำคัญมากที่สุด มุมใหญ่ทั้งสี่ด้านของเรือนธาตุแสดงถึงรูปทรงสี่เหลี่ยมหลักดั้งเดิมของ สถาปัตยกรรมเขมร ส่วนเครื่องบนของวิมานในปัจจุบันได้พังทลายลง จึงไม่อาจทราบรูปทรงที่แน่นอนได้แต่กระนั้นก็ได้พบรูปปราสาทจำลองขนาดเล็ก และยอดปราสาทรูปดอกบัวตูมหล่นอยู่ จากการค้นพบปราสาทจำลองและยอดปราสาทนี้จึงทำให้ทราบแน่นอนว่าแต่เดิม เครื่องยอดสุดของปราสาทประธานสร้างขึ้นในลักษณะของดอกบัวตูมและรูปปราสาท จำลองนี้แต่เดิมคมใช้ประดับตกแต่งมุมของชั้นเชิงบาตร การตกแต่งมุมของชั้นเชิงบาตรด้วยรูปจำลองของปราสาทนี้ เป็นความนิยมก่อนหน้าหารเปลี่ยนแปลงมาสู่การประดับมุมของชั้นเชิงบาตรด้วย กลีบขนุนปราสาทรูปสามเหลี่ยม ซึ่งเรียกว่า นาคปัก อันเริ่มตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เช่นปราสาทประธานของ ปราสาทพิมายเป็นต้นมา
มณฑปสร้างแยกออกมาจากตัวปราสาทซึ่งเรียกว่าวิมาน ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีผนังสี่ด้านและมีหน้าบันประกอบโดยรอบ มณฑปแห่งนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน คือมณฑปส่วนในและมุขของมณฑปส่วนหน้าที่เรียกว่า อรรธมณฑป มณฑปนี้สร้างขึ้นเพื่อให้นิกรชนทั่วไปได้เข้าไปภายในเพื่อประกอบพิธีกรรมทาง ศาสนา ส่วนวิมานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ หรือรูปเคารพเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สงวนไว้เฉพาะพราหมณ์หรือนักบวชที่ สามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมภายในครรคฤหะได้เพียงพวกเดียว ฐานของมณฑปกว้าง 15 เมตร ยาว 17 เมตร และสูง 1.50 เมตร ลักษณะการสร้างมณฑปให้ต่อเนื่องกับวิมาน โดยมีอันตราละป็นตัวเชื่อมเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์ของปราสาทเขมรโดยเฉพาะ อาคารมณฑปมีประตูทางเข้า 4 ประตู คือ ประตูทางด้านทิศเหนือซึ่งเป็นด้านหน้า ประตูด้านทิศใต้ต่อเนื่องกับอันตราละและประตูทางด้านข้าง อันได้แก่ประตูด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ภายในมณฑปอาจเป็นที่ตั้งรูปโคนนทิหมอบซึ่งมีความหมายถึงพาหนะของพระศิวะซึ่ง ปัจจุบันได้สูญไปแล้ว เมื่อไม่นานภายในมณฑปได้ปรากฏโบราณวัตถุที่ทำด้วยหินทรายมีสภาพชำรุด ได้แก่ คเณศ เทวรูปยืน ศิวลึงค์และรูปปราสาทจำลอง
ทับหลัง ทับหลังของบรรณาลัยหลังทิศตะวันออกเหนือประตูทางเข้าด้านหน้า และเหนือประตูหลอกด้านหลัง สลักเป็นรูปบุคคลประทับในท่ามหาราชลีลาสนะภายในซุ้มเหนือหน้ากาล ส่วนบรรณาลัยหลังทิศตะวันตก ทับหลังประตูทางเข้าด้านหน้าสลักรูปบุคคลประทับในท่ามหาราชลีลาสนะเช่นเดียว กับภาพบนทับหลังของบรรณาลัยหลังทิศตะวันออก หากแต่บนทับหลังของประตูด้านหลังซึ่งแตกชำรุดนั้นยังคงปรากฏรูปหงส์เป็น พาหนะของรูปบุคคลอยู่ น่าจะเป็นพระวิรุณทรงหงส์ หน้ากาลซึ่งตอนกลางเบื้อล่างของทับหลังคายท่อนพวงมาลัยออกมาจากปากและใช้มือ ยึดท่อนพวงมาลัยนั้น โดยท่อนพวงมาลัยได้วกขึ้นเบื้องบนและฉีกออกไปยังปลายของทับหลังทั้งสองข้าง เหนือท่อนพวงมาลัยมีลายใบไม้รูปสามเหลี่ยมตั้งขึ้น และเบื้องล่างมีลายใบไม้ม้วนห้อยตกลงมา การไม่ปรากฏพวงอุบะแบ่งที่เสี้ยวของท่อนพวงมาลัยทั้งสองข้าง ทำให้กำหนดไว้ว่าเป็นศิลปะแบบปาปวนอย่างแท้จริง
หน้าบัน หน้าบันของบรรณาลัยทั้ง 2 หลังเป็นหน้าบันซ้อนกัน 3 ชั้น ประกอบด้วยตัวหน้าบันและกรอบหน้าบันตัวหน้าบันของบรรณาลัยทั้ง 2 หลังทั้งด้านหน้าและด้านหลังสลักรูปบุคคลประทับในท่ามหาราชลีลาสนะ ภายในซุ้มเหนือหน้ากาลท่ามกลางลายพันธุ์พฤกษาซึ่งประกอบกันในรูปทรงสาม เหลี่ยมเบื้องล่างมีขื่อปลอมทำเป็นแนว้ส้นนูนจำหลักลายกลีบบัวรองรับ ส่วนกรอบของหน้าบันใหญ่และหน้าบันชั้นลดมีลักษณะเปฌนสามหยักมีใบระกาประดับ อยู่เบื้องบน ภายในกรอบสลักเป็นลายช่อดอกไม้เรียงจากสูงลงมาหาต่ำจนบรรจบกับนาคห้าเศียร ที่ปลายของกรอบหน้าบัน นาคห้าเศียรเหล่านี้มีลายใบไม้ประดับเหนือเศียรแต่ละเศียรและนาคเศียรกลาง คายพวงอุบะ จากรูปแบบของกรอบหน้าบันซึ่งไม่มีหน้ากาลคายที่คอของนาค แสดงถึงรูปแบบของศิลปะแบบเกลียงตอนปลายหรือแบบปาปวนตอนต้น
ทางดำเนินระหว่างโคปุระชั้นที่สามกับโคปุระชั้นที่สี่
จากโคปุระชั้นที่สามมีทางเดินยาว 270.53 เมตร ทอดไปทางทิศเหนือสู่โคปุระชั้นที่สี่ ทางเดินนี้กว้าง 11.10 เมตร โดยมีของทางทำเป็นเขื่อนยกสูงขึ้นเป็นของทั้งสองข้าง ส่วนพื้นทางปูด้วยศิลาทรายโดยตอลด แต่กระนั้นก็ดีบางตอนของพื้นทางก็เป็นลานซึ่งเป็นหินทรายตามธรรมชาติที่ไม่ เป็นระเบียบก็จำต้องตัดผิวหน้าให้เรียบเพื่อเข้ากับรูปแบบส่วนรวม
บนขอบทางเดินทั้งสองข้างปักเสาศิลาทรายซึ่งเรียกกันว่า เสาเทียน เสานางเรียง เสานางจรัล มีลักษณะเป็นเสาศิลาสี่เหลี่ยม มียอดคล้ายรูปดอกบัวตูมสูงราว 2.15 เมตร ปักเรียงรายเป็นระยะซึ่งเข้าใจว่ามีข้างละ 70 ต้น ปักห่างกันต้นละ 4.10 เมตร เสานางเรียงสองเข้าทางเดินนี้มียอดซึ่งมีลักษณะเป็นรูปพุ่มขนาดใหญ่ บริเวณใต้พุ่มนี้สลักเป็นชั้นลวดบัวตกแต่งด้วยลายประจำยาม ลายกลีบบัว บัวกุมุทและลายใบไม้รูปสามเหลี่ยมสลับพวงอุบะลดหลั่นกันลงมา ในทำนองเดียวกันที่โคนของเสาก็ทำล้อในลักษณะคล้ายคลึงกับยอดของเสา ถึงแม้ว่ายังไม่อาจทราบความหมายที่แท้จริงได้แต่ก็เป็นไปได้ว่าเสานองจรัล ที่กล่าวถึงนี้อาจมาจาก ไนจุมวล ในภาษาเขมรซึ่งหมายถึงเสาที่ปักรายเรียงตามทางเข้า ตรงกับความหมายของคำว่า cumval
บารายรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า
ทางด้านทิศตะวันออกของทางเดินห่างขอบทางออกไปราว 12.40 เมตร มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งเรียกว่า สระสรง กว้าง 16.80 เมตร ยาว 37.30 เมตร สระน้ำแห่งนี้กรุด้วยท่อนหินเป็นขั้นๆ อย่างบันได สอบลงก้นสระบริเวณชานบันไดลง สระเดิมมีการตั้งรูปสิงห์ประดับไว้
สะพานนาค ซึ่งอยู่เหนือบันไดศิลาช่วงที่สองนั้นปูพื้นด้วยแผ่นศิลาเรียบมีขนาดกว้าง 71 เมตร ยาว 31.80 เมตร ขอบสะพานทั้งสองข้างด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกทำเป็นฐานทึบขนาดเตี้ยมี พระยานาคเจ็ดเศียรเลื้อยอยู่บนฐานดังกล่าว นาคทั้งสองตัวนี้มีหัวข้างหนึ่งของลำตัวและมีหางข้างหนึ่งของลำตัวหันเศียร ซึ่งแผ่พังพานไปทางด้านทิศเหนือคือทางด้านหน้า ส่วนหางของนาคนั้นชูขึ้นเล็กน้อยหันไปด้านทิศใต้ นาคทั้งสองตัวนี้เป็นนาคซึ่งไม่มีรัศมีเข้ามาประกอบและลักษณะยังคล้ายกับงู ตามธรรมชาติ เป็นศิลปะแบบปาปวนอย่างแท้จริง ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในศิลปะแบบอื่นใดทั้งสิ้น ลักษณะเช่นนี้อาจเปรียบได้กับนาคที่เลื้ออยู่บริเวณขอบสระน้ำที่ปราสาทเมือง ต่ำ นาคนี้เป็นการแสดงถึงคติของสะพานซึ่งเชื่อมระหว่างมนุษย์โลกกับสวรรค์ไป พร้อมกันด้วย ในความเชื่อของจักรวาลของศาสนาฮินดูนั้น สะพานที่เชื่อมระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้านั้นคือสายรุ้ง ร่องรอยหลายประการที่เป็นเครื่องยืนยันว่าสะพานที่มีราวเป็นรูปพญานาคซึ่ง เป้นทางเดินเหนือคูน้ำจากมนุษย์โลกไปยังศาสนสถานคือภาพของรุ้ง ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกรวมทั้งประเทศอินเดียมักกล่าวถึงรุ้งซึ่งถูกเปรียบ เทียบกับพญานาค หรืองูที่มีหลายสีชูศีรษะไปยังท้องฟ้าหรือดื่มน้ำจากทะเล ตำนานของเรื่องนี้มักกล่าวถึงงูสองตัวเนื่องจากมักมีรุ้งกินน้ำสองตัวบ่อย ครั้ง บางทีอาจจะเป็นรุ้งกินน้ำคู่ ซึ่งหมายถึงทางเดินของเทพเจ้าไปสู่ท้องฟ้า ซึ่งส่งความบันดาลให้มีการสร้างนาคเป็นราวทั้งสองข้างของสะพานที่เสมือนการ แสดงภาพทางเดินของเทพเจ้ามายังพื้นพิภพของโลกมนุษย์
เป้ยตาดี เป็นชื่อของลานศิลาซึ่งอยู่ด้านหลังมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกระเบียงคดที่ ล้อรอบปราสาทประธานของเขาพระวิหาร จากคำบอกเล่ากล่าวกันว่า นานมาแล้วมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ ดี จาริกมาปลูกพำนักอยู่ ณ ลานศิลาแห่งนี้จนถึงแก่มรณะภาพ ชาวบ้านจึงเรียกลานแห่งนี้ว่าเป้ยตาดี ซึ่งหมายถึงเพิงหลวงตาดีนั่นเอง ลานศิลาแห่งนี้มีพื้นที่กว้าง 44 เมตร ยาว 50 เมตร ยังคงปรากฎร่องรอยของการตัดศิลาทรายเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารและส่วน ต่างๆของปราสาทเขาพระวิหารในปัจจุบัน จากลานแห่งนี้สามารถมองเห็นภูมิประเทศกัมพูชาได้ไกลสุดสายตา นอกจากนี้ทางด้านหน้าปราสาทของเขาพระวิหารซึ่งเรียกว่า สระตราว รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงกับผามออีแดง ก็ปรากฎร่องรอยของการนำศิลาทรายมาใช้ในการก่อสร้างโบราณสถานแห่งนี้เช่นกัน
วัสดุและเทคนิคในการก่อสร้าง
โบราณสถานเขมรโดยทั่วไปใช้วัสดุหลักสามชนิด อันได้แก่อิฐ ศิลาทราย และศิลาแลง กับทั้งใช้วัสดุรองคือไม้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อสร้าง ถึงแม้สถาปัตยกรรมแบบเขมรอาจจำแนกได้สองประเภท คือสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยวัตถุถาวรคือ อิฐ ศิลาทราย และศิลาแลง กับสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยไม้ หรือบางครั้งอาจใช้ผสมกันทั้งสองชนิด แต่สถาปัตยกรรมแบบเขมรก็มีรูปร่างที่ซับซ้อน เพราะนอกจากจะได้รับรูปแบบมาจากอาคารเครื่องไม้ในประเทศอินเดียแล้วยังมี สถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองของตนเองซึ่งสร้างด้วยไม้เข้ามาประสม อาคารสถานที่สร้างด้วยไม้ย่อมผุพังไม่เหลืออยู่จนกระทั่งปัจจุบัน จะเหลือก็แต่ที่สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง และศิลาทรายเท่านั้น สถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยวัสดุที่คงทนของเขมรคือการถ่ายทอดอาคารเครื่องไม้ ของอินเดียลงบนวัตถุที่ทนทานนั่นเอง แต่มีองค์ประกอบบางอย่างที่ลอกเลียนมาจากสถาปัตยกรรมพื้นเมืองที่สร้างด้วย ไม้ของตนเองเข้ามาประสม จนกระทั่งมีลักษณะบางประการที่แตกต่างไปจากต้นแบบในประเทศอินเดีย การเลียนแบบอาคารเครื่องไม้แสดงให้เห็นในรายละเอียดหลายประการเช่น ประตูปลอมซึ่งก่อด้วยอิฐหรือศิลาทราย สร้างเลียนแบบบานประตูไม้ ซึ่งเคยปรากฏอยู่ที่เป็นประตูจริงมาก่อน ทับหลังซึ่งจำหลักด้วยศิลาทรายเสมอนั้น ในชั้นแรกก็สลักลวดลายเลียนแบบวงโค้งซึ่งทำด้วยไม้และมีพวงมาลัยห้อยประดับ ลวดลายเครื่องประดับผนังเสาก็มักสลักเลียนแบบพวงมาลัยที่แขวนอยู่กับไม้ ลูกกรงมะหวดของหน้าต่างที่สลักด้วยศิลาทรายก็สลักล้อเลียนลูกกรงที่ทำด้วย ไม้ไผ่มาแต่ก่อน และอื่นๆอีกมากมาย
อิฐ เป็นวัสดุที่สำคัญที่ใช้ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมถาวรในประเทศกัมพูชา ระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 15 ในพุทธศตวรรษที่ 16 ได้มีการใช้อิฐน้อยลง มักใช้กับอาคารที่ไม่สำคัญจนกระทั้งถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 จึงเลิกนิยมใช้อิฐ ในการก่ออิฐจำเป็นต้องฝนอิฐแต่ละก้อนเพื่อให้อิฐเรียงทับกันสนิทดีไม่มีช่องว่าง
ศิลาทราย เป็นวัสดุที่ชาวกัมพูชานิยมใช้ก่อสร้างศาสนสถานตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15 และได้กลายเป็นที่นิยมกันทั่วไปในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ศิลาทรายส่วนมากเป็นสีเทาแต่บางครั้งมีสีค่อนข้างแดงหรือค่อนข้างเป็นสี น้ำเงิน เขียว เหลือง หรือม่วง ซึ่งมีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ศิลาทรายเกิดจากทรายที่ละเอียดมารวมตัวกันเข้าเป็นศิลาเหล่านี้ มีลักษณะอ่อนนุ่มเวลาขุดขึ้นมาจากแหล่งตัดหิน ด้วยเหตุนั้นจึงสามารถสลักลวดลายได้อย่างประณีตวิจิตร แต่ทรายเหล่านี้ก็มีเนื้อไม่เหนียวแน่นและแตกออกเป็นแผ่นบางได้โดยง่าย ศิลาทรายมีอยู่น้อยในประเทศกัมพูชาและมีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น แหล่งตัดศิลาทรายที่เป็นแหล่งที่สำคัญที่นำมาใช้ก่อสร้างศาสนสถานในเมืองพระ นครและบริเวณใกล้เคียงอยู่ที่เขาพนมกุเลน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองพระนครออกไปราว 40 กิโลเมตร สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของปราสาทเขาพระวิหาร เช่นปราสาทประธาน ระเบียงคด โคปุระทุกชั้น บรรณาลัย รวมทั้งสะพานนาคล้วนแล้วแต่ใช้ศิลาทรายเป็นวัสดุก่อสร้างทั้งสิ้นศิลาทราย เหล่านี้มีสีเทาและสีเหลืองค่อนข้างแดงเป็นหลัก
เทคนิคการก่อสร้างสถาปัตยกรรมด้วยศิลาในชั้นแรก กระทำด้วยการนำก้อนศิลาทรายซึ่งตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดไล่เลี่ยกันวาง ซ้อนกันขึ้นไปตามรูปผังที่กำหนดไว้ โดยอาศัยน้ำหนักของแท่งศิลาทรายแต่ละก้อนกดทับกันและกันเพียงอย่างเดียว การใช้วัสดุอื่นเป็นเครื่องยึดจะกระทำเฉพาะส่วนที่มีความจำเป้นต้องเสริม ความมั่นคงเป็นพิเศษเช่นที่ขอบหรือที่มุมของอาคาร ชาวเขมรได้นำเทคนิคการสกัดหินทรายสองก้อนซึ่งอยู่ชิดกันให้เป็นร่องแล้วนำ แท่งเหล็กหล่อเป็นรูปตัว I หรือ Z วางลงในร่องดังกล่าวเพื่อให้แท่งเหล็กนั้นเป็นแกนยึดหลักศิลาทรายทั้งสอง ก้อนเข้าด้วยกัน แล้วจึงใช้ตะกั่วหลอมละลายราดทับลงไปบนแท่งเหล็กนั้นอีกชั้นหนึ่ง
ในการเคลื่อนย้ายศิลาทรายเพื่อนำขึ้นไปก่อสร้างสถาปัตยกรรมนั้น จำเป็นต้องยกก้อนศิลาทรายที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีน้ำหนักมากขึ้นไปวาง ซ้อนกันในระดับความสูงนับสิบเมตร ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการค้นพบหลักฐานที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้แน่นอนในขณะ นี้ก็ตาม แต่มีการสันนิษฐานว่าชาวเขมรคงใช้เครื่องผ่อนแรงประเภทรอกกว้านขึ้นไปหรือ ใช้สะพานเลื่อนเป็นสำคัญ หากพิจารณาแท่งศิลาทรายแต่ละก้อนแล้ว มักจะพบว่าปรากฏรอยเจาะรูที่ปลายของแท่งศิลาทรายทั้งสองด้าน รูเจาะดังกล่าวคงทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายหรือยกแท่งศิลาทรายนี้ เป็นไปได้ว่า ช่างอาจใช้ลิ่มตอกเข้าไปในรูแล้วใช้เชือกผูกลิ่มทั้งสองข้างยกขึ้นเบื้องบน อย่างไรก็ตามก่อนหน้าการยกแท่งศิลาทรายขึ้นเพื่อวางเรียงซ้อนกันตามรูปทรง ที่กำหนดไว้จำเป็นจะต้องขัดผิวศิลาทรายเหล่านี้ให้เรียบ เพื่อประโยชน์ในการวางศิลาทรายแต่ละก้อนให้แนบสนิทกัน โดยระวังมิให้รอยต่อแต่ละก้อนตรงกัน ภายหลังการเรียงสำเร็จแล้วจำต้องตัดหน้าแท่งศิลาทรายให้เรียบ แล้วจึงลงมือแกะสลักลวดลายต่อไป การแกะสลักลวดลายบนสถาปัตยกรรมนี้ รวมทั้งการแกะสลักทับหลังและหน้าบันก็กระทำเมื่อยกแท่งศิลาเหล่านั้นไป ประกอบเป็นรูปทรงก่อนแล้วค่อยแกะสลัก ยกเว้นปราสาทซึ่งเป็นรูปกลศหรือดอกบัวเท่านั้นที่คงสลักบนพื้นดินแล้วนำขึ้น ไปบนยอดสุดในท้ายที่สุด
เครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลักลวดลายที่ระเอียดนี้คือ เครื่องมือเหล็กที่มีขนาดเล็กและแหลมคม การแกะสลักกระทำเป็นสี่ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกเป็นการร่างลายลงบนผิวหน้าของศิลาทราย ขั้นที่สองคือการแกะสลักลงไปเพื่อให้เป็นรูปร่างขึ้นมา ขั้นที่สามคือการแกะสลักลงไปอีกเพื่อให้ลวดลายเด่นชัดยิ่งขึ้น และขั้นที่สี่คือการขุดลายให้ลึกลงไป
สำหรับการป้องกันการเคลื่อนตัวของแท่งศิลาทรายที่ก่อเป็นผนัง ประตู หน้าต่าง โดยทั่วไปมักเจาะแท่งศิลาทรายซึ่งก่อตามแนวนอนตามความยาวของกรอบประตูหรือ หน้าต่างด้านบน แล้วใช้ไม้สอดเป็นแกนภายในโดยให้แกนไม้นี้ยาวเลยขอบประตูหน้าต่างทั้งสอง ข้างออกไป หากพบว่าผนังส่วนบนเหนือประตูหรือหน้าต่างมีน้ำหนักมาก จะใช้วิธีก่อศิลาจากขอบประตูให้เหลื่อมกันเข้ามาบรรจบกันในรูปสามเหลี่ยม บริเวณสามเหลี่ยมที่เป็นช่องว่างนี้ เจาะแท่งหินเข้ามาเป็นชั้นๆ เพื่อสอดคานไม้รับน้ำหนักผนังอาคารด้านบน การใช้ไม้สอดรองรับน้ำหนักของผนังอาคารนี้เป็นข้อผิดพลาดอย่างยิ่งในการก่อ สร้างเพราะว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป ไม้ที่สอดนั้นชำรุดหักพังก็จะเป็นตัวเร่งให้เครื่องที่อยู่บนไม้ที่รองรับ นั้นพังทลายลงมา
นอกจากนี้ยังปรากฎว่าสถาปัตยกรรมเขมรยังประกอบด้วยหน้าต่างจริงและหน้าต่าง หลอก หน้าต่างจริงคือหน้าต่างที่เจาะโปร่งมักใช้กับส่วนของผนังอาคารที่ไม่ได้รับ น้ำหนักของเครื่องบนมากนัก ส่วนหน้าต่างหลอกคือการเจาช่องให้เป็นรูปหน้าต่างหากมิได้เจาะให้ผนังโปร่ง ทะลุทั้งสองด้าน แต่กระนั้นหน้าต่างทั้งสองชนิดนี้มักจะติดตั้งลูกกรงมะหวด ที่ทำด้วยศิลาทรายกลึงเป็นข้อเลียนแบบข้อหรือปล้องไม้ไผ่เข้าไปตลอดความ กว้างของหน้าต่าง เพื่อการประดับตกแต่งก่อให้เกิดความสวยงามและยังใช้รับน้ำหนักด้วยเช่นกัน
ศาสนาฮินดู เป็นศาสนาที่ซับซ้อน มีกำเนิดจากลัทธิพระเวท ซึ่งพวกอารยันได้นำเข้ามาในประเทศอินเดียก่อนที่ชาวอารยันได้บุกรุกเข้ามา ศาสนาฮินดูนี้ได้มีวิวัฒนาการตลอดระยะเวลาของประวัติความเป็นมาโดยในระยะแรก เรียกว่าศาสนาพราหมณ์และต่อมาจึงกลายเป็นศาสนาฮินดู จะมีการเคารพบูชาเทพเจ้าหลายองค์ แต่ก็ได้ให้ความสำคัญแก่พระเป็นเจ้าสามองค์ได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ซึ่งรวมกันเรียกว่า ตรีมูรติ พระพรหมทรงเป็นเพียงเทพเจ้าชั้นรอง หากแต่พระศิวะและพระวิษณุนั้นกลายเป็นเทพเจ้าผู้เป็นประมุขของนิกายใหญ่สอง ลัทธิที่แข่งขันกันอยู่ในประเทศอินเดีย ได้แก่ลัทธิไศวนิกายซึ่งถือว่าพระศิวะเป็นใหญ่และลัทธิไวษณพนิกายซึ่งถือว่า พระวิษณุเป็นใหญ่กว่าพระศิวะ แต่พระวิษณุคือพระหริ และพระศิวะเป็นพระหระ แล้วก็สามารถรวมกันเป็นเทพเจ้าองค์เดียวคือ พระหริหระ
พระพรหมซึ่งตาทฤษฎีจัดว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุดนั้นมีสี่พักตร์ สี่กร ทรงหงส์เป็นพาหนะ
พระวิษณุซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ปกปักรักษาโลกโลกทรงมีเพียงเศียรเดียว สี่กร และมักทรงถือจักร สังข์ คฑา และดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ พระวิษณุทรงมีพระชายานามว่า ลักษมีเทพธิดาแห่งความงาม และทรงครุฑเป็นพาหนะ การบรรทมหลับของพระวิษณุเป็นการช่วยสร้างโลกไว้ภายหลังที่โลกถูกทำลาย กล่าวคือ เมื่อสิ้นกัลป์แล้ว พระวิษณุจะบรรทมเหนือพญาอนันตนาคราชหรือเศษนาคในเกษียรสมุทร ในขณะที่บรรทมหลับนั้นจะมีดอกบัวทองผุขึ้นมาจากพระนาภีของพระองค์ และมีพระพรหมประทับอยู่บนนั้นและพระพรหมก็จะสร้างโลกขึ้นมาใหม่
ในระหว่างกัลป์เมื่อเกิดยุคเข็ญขึ้นในโลกพระวิษณุจะอวตารลงมาเพื่อรักษาโลก อวตารเหล่านี้บางครั้งก็เป็นเต่า หมู่ป่า ปลา หรือวีรบุรุษ กูรมาวตารหรือปางอวตารเป็นเต่าซึ่งเกี่ยวข้องกับการกวนเกษียรสมุทรนั้นเป็น ที่นิยมมากในศิลปะเขมร การอวตารเป็นมนุษย์ของพระวิษณุคือเป็นพระรามและพระกฤษณะดังที่มีปรากฏอยู่ใน เรื่องรามายณะ มหาภารตะ หริวงศ์ ภาควัตปรุณะ และวิษณุปราณะ ก็เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในศิลปะเขมรเช่นเดียวกัน ดังเห็นได้จากภาพสลักอันงดงามเป็นจำนวนมาก
พระศิวะซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดในลัทธิไศวนิกายนั้นถือกันว่าพระองค์เป็น ผู้สร้างและผู้ล้างโลกเพราะเหตุว่าความตายนั้นก็คือการให้ชีวิตมีขึ้น พระศิวะมักมีเศียรเดียว สี่กร มักทรงถือ ตรีศูลเป็นอาวุธ ทรงมีพระเนตรที่สามตั้งขวางพระนลาฏ พระเกศามักเป็นขมวดเกล้าเป็นชฏามุกุฏ และบางครั้งก็มีรูปพระจันทร์เสี้ยว ประดับบนมวยพระเกศา พระองค์ทรงนุ่งหนังกวางหรือหนังเสือทรงนาคเป็นสังวาลย์และทรงโคนนทิเป็นพาหะ นะ บางครั้งพระศิวะก็ทรงฟ้อนรำเป็นนาฏราช ซึ่งเป็นรำของพระองค์เป็นการกำหนดระยะโชคชะตาของมนุษย์โลก ชายาของพระศิวะทรงพระนามว่าพระอุมาเป็นผู้ที่แสดงความเมตตากรุณาและผู้ที่ สพรึงกลัว เช่นเดียวกับพระศิวะซึ่งทรงเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายล้าง พระนางเป็นสัญลักษณ์แห่งกำลังของโลก ภายใต้ลักษณ์ความอ่อนหวานมีนามว่าอุมาหรือปรรพตีและภายใต้ลักษณะโหดร้ายมี นามว่าทุรคา หรือกาลี
ในศิลปะเขมรมักนิยมสร้างรูปพระศิวะกำลังกอดพระชายาของพระองค์เหนือพระ เพลา พระศิวะและนางปรรพตีทรงมีโอรสสององค์คือ พระขันธกุมาร ซึ่งเป็นเทพเจ้า แห่งการสงคราม ทรงนกยูงเป็นพาหนะ และพระคเฌศซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้างผู้อุปถัมป์ศิลปะวิทยาการ ศิลปะเขมรมักนิยมทำรูปพระศิวะในปางแสดงความเมตตากรุณายิ่งกว่าปางเสวยกาม เศร้าหมองหรือน่าสะพลึงกลัว แต่แทนที่จะทำรูปพระองค์ในรูปของมนุษย์กลับปรากฏว่าในรูปลอยตัวมักแสดงในรูป ของศิวะลึงค์ ศิวะลึงค์นี้คือเครื่องหมายขององค์กำเนิดของเพศชาย อันแสดงถึงอำนาจในการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้าและต่อมาก็ได้กลายเป็น เครื่องหมายของพระราชาแห่งกัมพูชาด้วย
ในบรรดาเทพเจ้าในศาสนาฮินดูนอกเหนือจากตรีมูรติที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีเทพเจ้าอีกองค์หนึ่งซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในศิลปะเขมร เทพเจ้าองค์นี้ได้แก่พระอินทร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสายฟ้า – ฝน เทพเจ้าผู้รักษาทิศตะวันออก ทรงช้างเอราวัณสามเศียรเป็นพาหนะ มักได้รับการแสดงภาพให้ปรากฏอยู่เสมอ

การเดินทาง
จากศรีสะเกษไปทางอำเภอกันทรลักษณ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 221 จะผ่านบ้านภูมิซร๊อล มาจนถึงเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จะมีด่านตรวจ ผ่านด่านแล้วให้ขึ้นไปตามทางขึ้นเขา
จากอุบลราชธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 24ที่ไปเดชอุดม มาจนถึงทางแยกเข้าทางหมายเลข 2085 ไปอำเภอกันทรลักษณ์ แล้วตรงไปตามทางดังกล่าว
รถโดยสาร มีรถโดยสารจากอำเภอเมือง ศรีสะเกษ ไปถึงอำเภอกันทรลักษณ์ ออกทุกชั่วโมงแล้วเหมารถต่อไปปราสาท หรือเหมารถรับจ้างจากอำเภอเมืองปราสาทไป ราคาประมาณ 1,000 บาท

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ

การสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระวิหารป่าฝั่งลำโดมใหญ่ท้องที่อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษและอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ 81,250 ไร่ เป็นพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 และกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในภาค 2 ค่ายสุรนารี นครราชสีมา ทำความตกลงกับกรมป่าไม้ กำหนดพื้นที่ป่าไม้ชายแดนให้เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ห้ามเข้าไปและอาศัยอยู่โดยเด็ดขาด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่มาก มีทัศนียภาพที่สวยงาม ตลอดจนโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ลักษณะภูมิอากาศ

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม - พฤษภาคม
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - ตุลาคม
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชันเป็นเนินเขา สภาพป่าส่วนมากเป็นป่าเบญจพรรณประกอบด้วยไม้สำคัญ ได้แก่ ประดู่ ตะเคียนหิน ตะแบก เต็ง รัง พะยุง นนทรี พยอม แดง ฯลฯ มีไม้ตั้งแต่ขนาดกลางถึงใหญ่ พื้นที่บางส่วนผ่านการทำไม้มาแล้ว นอกจากนี้ยังมีไม้พื้นล่าง ได้แก่ ไผ่ หวาย กล้วยไม้ดิน ที่มีขึ้นตามลานหินและหญ้าต่าง ๆ
มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ทั่วไป เช่น หมูป่า กวาง เก้ง กระต่าย กระรอก ชะนี ชะมด และนกต่าง ๆ ซึ่งสัตว์ป่าเหล่านี้ควรมีการเคลื่อนย้ายถิ่น เพื่อเป็นการหลบหลีกภัยไปมาระหว่างพื้นที่ป่าของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ยังมีสัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลาน เช่น ค้างคาว แมลงจำพวกผึ้ง ผีเสื้อ จักจั่น และงูต่าง ๆ เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยว
ปราสาทโดนตวล เป็นปราสาทหนึ่งที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่มีศิลปวัฒนธรรมน่าศึกษาอยู่มาก ตั้งอยู่ตรงเขตชายแดนของประเทศไทย อยู่ห่างจากหน้าผาเพียงเล็กน้อย ประมาณ 300 เมตร และขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษร่วมกับกองทัพภาคที่ 2 ได้จัดทำทางสู่ปราสาทโดนตวล โดยแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2243 จ.ศรีสะเกษ ปราสาทเขาพระวิหาร ตรงจุดกิโลเมตรที่ 98 มีระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตรการเดินทางเข้าศึกษาและเที่ยวชมพักผ่อนหย่อนใจจึงสะดวกมาก
ผามออีแดง นับเป็นสถานที่ตรงจุดชายแดนเขตประเทศไทยติดต่อกับประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ใกล้ทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารที่มีทัศนียภาพสวยงาม เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ พื้นที่แนวชายแดนประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย และบริเวณปราสาทเขาพระวิหารได้อย่างสวยงามและกว้างไกล จุดสูงสุดของหน้าผามออีแดง สามารถส่องกล้องชมปราสาทเขาพระวิหารได้ชัดเจนมากมองเห็นสภาพภูมิประเทศตาม ความเป็นจริงได้อย่างดี ซึ่งปราสาทเขาพระวิหารเคยเป็นสมบัติของประเทศไทยมาก่อน
ภาพสลักนูนต่ำ เป็นศิลปแบบโบราณมากอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งแกะสลักนูนต่ำเป็นภาพของ 3 เทพ อยู่บริเวณหน้าผาใต้มออีแดง ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษได้จัดทำทางเดินเท้าและราวจับสำหรับ เดินทางลงไปเที่ยวชมและศึกษาโบราณวัตถุบริเวณจุดนี้ไว้ด้วย
สถูปคู่ เป็นโบราณวัตถุมีอยู่ 2 อัน ตั้งคู่อยู่บริเวณทิศตะวันตกของผามออีแดง ถ้าเดินทางจากผามออีแดงไปยังเขาพระวิหารก็จะผ่านสถูปคู่นี้ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมและส่วนบนกลม ก่อสร้างด้วยหินทรายเป็นท่อนที่ตัดและตกแต่งอีกที นับว่าแปลกจากศิลปวัฒนธรรมยุคอื่นใด
ทำนบสระตราว ด้วยท่อนหินทรายซึ่งตัดมาจากแหล่งตัดหินมาวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ และตอนนี้ได้มีการบูรณะและทำความสะอาดบริเวณสระตราว สามารถเก็บกักน้ำและนำมาใช้อุปโภคบริการแก่เจ้าหน้าที่ และนักท่องเที่ยว ณ บริเวณผามออีแดง และปราสาทเขาพระวิหารได้อย่างเพียงพอแล้ว
แหล่งตัดหิน เป็นบริเวณที่ทำการตัดหินเป็นท่อนสี่เหลี่ยม เข้าใจว่าคงเตรียมตัดหิน เพื่อใช้ในการก่อสร้างทำนบสระตราวสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ซึ่งมีทั้งหินที่ตัดเป็นท่อนแล้ว และยังตัดไม่เสร็จอยู่ในลักษณะเตรียมการอยู่ใกล้บริเวณทำนบสระตราวนั้นเอง
ถ้ำฤาษี เป็น ถ้ำแห่งหนึ่งที่อยู่บริเวณห้วยด้านทิศตะวันตกของสระตราว ใกล้เส้นทาง จะเดินสู่ปราสาทเขาพระวิหารบริเวณภายในจุคนได้มากสำหรับพักแรมได้เคยมีพระ สงฆ์เดินทางไปปักกรดพักปฏิบัติจำพรรษาที่นั่นมาก่อน
ช่องตาเฒ่า อยู่บริเวณชายแดนแนวเขตของไทยกับกัมพูชาประชาธิปไตย เป็นพื้นที่ คอดกิ่วของเทือกเขาพนมดงรัก ที่สามารถเดินไปมาหาสู่กันได้ระหว่างทั้งสองประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่จัดเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากทุ่นระเบิด ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ และกองกำลังทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ได้พยายามเข้าเคลียร์พื้นที่นี้อยู่เพื่อการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต
ช่องโพย เป็นอีกเส้นทางหนึ่งพื้นผิวจราจรเป็นดินลูกรังที่จัดทำไปยังแนวชายแดนกับประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ท้องที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกำลังสนับสนุนเพื่อความมั่นคงของชาติ และบริเวณนี้ยังมีน้ำตกและทัศนียภาพที่สวยงาม เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
น้ำตกและถ้ำขุนศรี น้ำตก ตั้งอยู่เหนือถ้ำขุนศรีขึ้นไป สูง 3 ชั้น ทางด้านทิศตะวันตกของสระตราวใกล้เส้นทางเดินสู่ปราสาทเขาพระวิหาร ส่วนถ้ำขุนศรีภายในถ้ำกว้างขวาง สามารถจุคนได้มาก เชื่อกันว่าเป็นที่พักของขุนศรีขณะที่มาควบคุมการตัดหินบริเวณสระตราวเพื่อ ไปสร้างปราสาทเขาพระวิหาร
น้ำตกห้วยตา เป็นน้ำตกขนาดเล็กอยู่บริเวณเส้นทางขึ้นผามออีแดง จัดเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่มีพันธุ์ไม้ สมุนไพร และกล้วยไม้อยู่หลายชนิด
เขาสัตตะโสม เป็นหน้าผาติดแนวชายแดน ประเทศกัมพูชา สามารถมองเห็นผามออีแดง และปราสาทเขาพระวิหารได้ชัดเจน มีทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นจุดชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า
เขื่อนห้วยขนุน เป็นอ่างเก็บน้ำชลประทานและที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ มีทิวทัศน์สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อน เที่ยวชมธรรมชาติและเข้าค่ายกางเต็นท์พักแรม
น้ำตกไทรย้อย เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงามตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี อยู่ห่างจากเส้นทางสู่ อ.น้ำยืนไปประมาณ 4 กิโลเมตร
ช่องอานม้า เป็นจุดผ่อนปรนในการค้าขาย ระหว่างแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ตั้งอยู่ในท้องที่ ต.โซง อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันเปิดจุดช่องผ่อนปรนในวันอังคารและวันพฤหัสบดี

สิ่งอำนวยความสะดวก
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารได้จัดพื้นที่สำหรับกางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว

การเดินทาง
รถยนต์ โดย รถยนต์โดยสารสู่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารได้หลายเส้นทางซึ่งถนนลาดยางทุก เส้นสะดวกสบายมากคือจากจังหวัดศรีสะเกษ-อำเภอกันทรลักษ์-ที่ทำการอุทยานฯ หรือจากจังหวัดอุบลราชธานี– อำเภอน้ำยืน – ที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางแต่ละสายประมาณ 100 กิโลเมตรเท่านั้น
เครื่องบิน เครื่อง บินโดยสารจากท่าอากาศยานดอนเมืองถึงจังหวัดอุบลราชธานี คือ วันจันทร์และวันเสาร์ จากกรุงเทพฯ มีเที่ยวบินเวลา 07.10 น. และวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ และอาทิตย์ ออกจากกรุงเทพฯ มีเที่ยวบินเวลา 16.25 น. ทุกวัน แล้วก็เดินทางสู่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารต่อไป ซึ่งสะดวกสบายสำหรับการเดินทางไปท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ

สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
ตู้ ปณ 14 อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีษะเกษ 33110 โทรศัพท์ : +66 (0) 1222 0798








0 ความคิดเห็น: