00:30

จังหวัดสุรินทร์

สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม
ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท
ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม
งามพร้อมวัฒนธรรม


http://pcoc.moc.go.th/pcocsys/uploadfile/32/jpg/%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87.jpg

งานประเพณีบวชนาคแห่ช้าง

ข้อมูลทั่วไป จังหวัดสุรินทร์

สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานจังหวัดหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร อาศัยเพียงข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ตลอดจนคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่เล่าต่อๆ กันมา โดยเชื่อกันว่าเมืองสุรินทร์ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยที่พวกขอมมีอำนาจอยู่ในบริเวณนี้ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงเมืองสุรินทร์ได้ถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นป่าดงอยู่นาน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2306 จึงปรากฏหลักฐานว่าหลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ซึ่งเดิมเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบบังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่บริเวณบ้านคูประทาย บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ 2 ชั้น มีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัย ต่อมาหลวงสิรินทรภักดีได้กระทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปราน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็น “เมืองประทายสมันต์” และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทรภักดี เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าเมืองปกครอง
ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองประทายสมันต์” เป็น “เมืองสุรินทร์” ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง
สุรินทร์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ประมาณ 457 กิโลเมตร และโดยทางรถไฟประมาณ 420 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 8,124 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด และมหาสารคาม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ
ทิศใต้ ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์

การปกครอง
จังหวัดสุรินทร์ แบ่งการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ 4 อำเภอ ดังนี้
อำเภอเมือง
อำเภอปราสาท ห่างจากตัวเมือง 28 กม.
อำเภอสังขะ ห่างจากตัวเมือง 49 กม.
อำเภอศรีขรภูมิ ห่างจากตัวเมือง 34 กม.
อำเภอสำโรงทาบ ห่างจากตัวเมือง 54 กม.
อำเภอจอมพระ ห่างจากตัวเมือง 26 กม.
อำเภอท่าตูม ห่างจากตัวเมือง 51 กม.
อำเภอชุมพลบุรี ห่างจากตัวเมือง 91 กม.
อำเภอรัตนบุรี ห่างจากตัวเมือง 70 กม.
อำเภอสนม ห่างจากตัวเมือง 49 กม.
อำเภอกาบเชิง ห่างจากตัวเมือง 58 กม.
อำเภอบัวเชด ห่างจากตัวเมือง 66 กม.
อำเภอลำดวน ห่างจากตัวเมือง 24 กม.
กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ ห่างจากตัวเมือง 22 กม.
กิ่งอำเภอศรีณรงค์ ห่างจากตัวเมือง 64 กม.
กิ่งอำเภอพนมดงรัก ห่างจากตัวเมือง 78 กม.
กิ่งอำเภอโนนนารายณ์ ห่างจากตัวเมือง 80 กม.

การเดินทาง
รถ ยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรีและเดินทางเข้าเส้นทางโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) ผ่านอำเภอนางรอง อำเภอปราสาท จากอำเภอปราสาทแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 214 ถึงตัวเมืองสุรินทร์ รวมระยะทาง 450 กิโลเมตร
หรืออาจเดินทางจากกรุงเทพฯไปจังหวัดนครราชสีมา ต่อด้วยเส้นทางหมายเลข 226 ผ่านอำเภอจักราช ห้วยแถลง ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ สู่จังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทาง 434 กิโลเมตร
โดยสารรถประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารประจำทางออกจากสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ไปสุรินทร์ทุกวัน สอบถามรายละเอียดโทร. 936-2852-66
จากสถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์ ถนนจิตรบำรุง มีรถโดยสารประจำทางหลายสายดังนี้ -
สายสุรินทร์-รัตนบุรี, สุรินทร์-กาบเชิง-ช่องจอม, สุรินทร์-โคกกระชาย (อำเภอปราสาท), สุรินทร์-ร้อยเอ็ด (สายเก่า), สุรินทร์-ร้อยเอ็ด (สายใหม่) , สุรินทร์-ยโสธร, สุรินทร์-นครราชสีมา, สุรินทร์-ศรีสะเกษ (ผ่านศรีขรภูมิ), สุรินทร์-กระโพ-นากลาง, สุรินทร์-พัทยา (มีทั้งรถธรรมดา รถปรับอากาศและวีไอพี) ติดต่อ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. (044) 511756
สายสุรินทร์-กรุงเทพฯ ติดต่อ เศรษฐีทัวร์ โทร. (044) 511496 กิจการราชสีมาทัวร์ โทร. (044) 512161
สายอุบลราชธานี-สุรินทร์-นครราชสีมา-ระยอง ติดต่อ นครชัยแอร์ โทร. (044) 515151
รถไฟ มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง) มีรถธรรมดา รถเร็ว และรถด่วนสายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี แวะจอดที่จังหวัดสุรินทร์ และรถดีเซลราง กรุงเทพฯ-สุรินทร์ สอบถามรายละเอียด โทร. 223-7010 และ 223-7020 สถานีรถไฟจังหวัดสุรินทร์ โทร. (044) 511295, 515393
การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ไปยังจังหวัดใกล้เคียง ติดต่อสถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์ โทร. (044) 511756
จังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทาง 111 กิโลเมตร
จังหวัดยโสธร ระยะทาง 135 กิโลเมตร
จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทาง 137 กิโลเมตร
จังหวัดศรีสะเกษ ระยะทาง 143 กิโลเมตร
จังหวัดมหาสารคาม ระยะทาง 177 กิโลเมตร
จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 198 กิโลเมตร
ข้อมูลรายละเอียดในเอกสารนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
สงวนลิขสิทธิ์ หากนำไปจัดพิมพ์เพื่อการจำหน่าย


แผนที่จังหวัดสุรินทร์


แผนที่ตัวเมืองสุรินทร์



ข้อมูลท่องเที่ยว อ.เมือง

อำเภอเมือง
หลักเมืองสุรินทร์ เป็นสถานที่สำคัญและเป็นที่นับถือคู่บ้านคู่เมืองของชาวสุรินทร์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร เดิมเป็นเพียงศาลไม่มีเสาหลักเมือง มีมานานกว่าร้อยปี เมื่อปี พ.ศ. 2511 กรมศิลปากรได้ออกแบบสร้างศาลหลักเมืองใหม่ เสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์มาจากนายประสิทธิ์ มณีกาญจน์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเสาไม้สูง 3 เมตร วัดโดยรอบเสาได้ 1 เมตร ทำพิธียกเสาหลักเมืองและสมโภช เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2517
อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงผู้สร้างเมืองท่านแรก ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ทางเข้าเมืองสุรินทร์ทางด้านใต้ ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่ถนนสุรินทร์-ปราสาท เป็นบริเวณที่เคยเป็นกำแพงเมืองชั้นในของตัวเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์เป็นรูปหล่อทองเหลืองรมดำ สูง 2.2 เมตร มือขวาถือของ้าว อันเป็นการแสดงถึงความเก่งกล้าสามารถของท่านในการบังคับช้างศึกและเป็น เครื่องแสดงว่าสุรินทร์เป็นเมืองช้างมาแต่ดึกดำบรรพ์ รูปปั้นสะพายดาบคู่อยู่บนหลังอันหมายถึงความเป็นนักรบ ความกล้าหาญอันเป็นคุณสมบัติที่ตกทอดเป็นมรดกของคนสุรินทร์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2528
วัดบูรพาราม ตั้งอยู่ที่ถนนกรุงศรีใน ตำบลในเมือง ใกล้กับศาลากลางจังหวัด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของจังหวัด คือ หลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดบูรพาราม นอกจากนี้ผู้มาเยือนยังได้แวะนมัสการรูปเหมือนหลวงปู่ดูลย์ อตุโลอีกด้วย วัดบูรพารามนี้เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี หรือในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุประมาณ 200 ปี เท่ากับอายุเมืองสุรินทร์ สร้างโดยพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดบูรพารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520
ห้วยเสนง เป็นอ่างเก็บน้ำของโครงการชลประทาน อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางถนนสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5-6 แยกซ้ายมือไปทางถนนริมคลองชลประทาน ประมาณ 4 กิโลเมตร ห้วยเสนงนี้เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีสันเขื่อนสูง บนสันเขื่อนเป็นถนนลาดยาง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองสุรินทร์ และภายในที่ทำการชลประทาน มีพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
วนอุทยานพนมสวาย อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร ถนนราดยางสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ระยะทาง 14 กิโลเมตร และมีทางแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ในท้องตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นภูเขาเตี้ยๆ มียอดเขาอยู่ 3 ยอด ยอดที่ 1 มีชื่อว่ายอดเขาชาย (พนมเปราะ) สูง 210 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมสวาย มีบันไดก่ออิฐถือปูนขึ้นถึงวัด มีสระน้ำกว้างใหญ่และร่มรื่นด้วยต้นไม้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคลปางประทานพร ภปร. ยอดที่ 2 มีชื่อว่ายอดเขาหญิง (พนมสรัย) สูงระดับ 228 เมตร ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานไว้ ยอดที่ 3 มีชื่อว่าเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสร้างศาลาอัฏฐะมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง จากยอดเขาชายมาประดิษฐานไว้ในศาลา โดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2524 และสำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2525 ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นวนอุทยานแล้ว บรรพบุรุษชาวสุรินทร์ถือว่าเป็นสถานที่แสวงบุญ โดยการเดินทางไปขึ้นยอดเขาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันหยุดงานตามประเพณีของชาวจังหวัดสุรินทร์มาแต่โบราณกาล
ปราสาทเมืองที ตั้ง อยู่ภายในบริเวณวัดจอมสุทธาวาส หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองที ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-ศรีขรภูมิ เส้นทางหลวงหมายเลข 226 จนถึงบ้านโคกลำดวน เลี้ยวซ้ายเข้าวัดจอมสุทธาวาส ปราสาทเมืองทีเป็นปราสาทแบบเขมรที่ได้รับการดัดแปลงในสมัยหลังเช่นเดียวกับ ปราสาทศรีขรภูมิ ปราสาทก่อด้วยอิฐฉาบปูน มี 5 หลัง สร้างรวมกันเป็นหมู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 หลังซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง หลังกลางมีขนาดใหญ่สุด มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ตัวเรือนธาตุตันทึบไม่มีประตู เนื่องจากการดัดแปลง ส่วนหลังคาทำเป็นชั้นมี 3 ชั้นเลียนแบบตัวเรือนธาตุ ส่วนยอดบนหักหาย นับเป็นโบราณสถานเขมรอีกแบบหนึ่งที่นิยมสร้าง คือ มีปราสาทหลังกลางเทียบเท่าเขาพระสุเมรุ และมีปรางค์มุมทั้งสี่ตามความเชื่อในลัทธิศาสนาพราหมณ์ แต่ไม่พบจารึกหรือลวดลายทางศิลปะที่สามารถบอกว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านจันรม ตั้งอยู่ที่ตำบลตาอ็อง ทางตะวันออกของตัวเมือง ตามทางสายสุรินทร์-สังขะ (ทางหลวงหมายเลข 2077) ประมาณ กม.ที่ 12 ที่หมู่บ้านจันรมมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันเองแล้วนำมาทอเป็นผ้าไหมที่มี ลวดลายและสีแบบโบราณ
หมู่บ้านจักสานบ้านบุทม ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองที อำเภอเมือง การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 226 จากตัวเมืองไปทางอำเภอศรีขรภูมิประมาณ 12 กิโลเมตร ในช่วงนอกฤดูทำนาชาวบ้านจะมีอาชีพพิเศษด้วยการสานตะกร้าและภาชนะต่าง ๆ ที่ทำจากหวายเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ และเป็นของที่ระลึกเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว


อำเภออื่น ๆ

กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์
หมู่บ้านหัตถกรรมเขวาสินรินทร์ ตั้งอยู่ทางเหนือของตัวเมืองสุรินทร์ ตามทางหลวงหมายเลข 214 (ทางสายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ไปประมาณ 14 กิโลเมตร แยกขวามือไปอีก 4 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหมพื้นเมืองและการผลิตลูกประคำเงิน ที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เรียกกันว่า ลูกปะเกือม นำมาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรีที่สวยงาม มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าในบริเวณหมู่บ้าน ราคาย่อมเยา

อำเภอปราสาท
ปราสาทบ้านไพล ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลเชื้อเพลิง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 22 กิโลเมตร (ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอปราสาท 6 กิโลเมตร) มีทางแยกขวาไปตามถนนลาดยางอีก 3 กิโลเมตร ตัวปราสาทมีลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์ สร้างด้วยอิฐขัดตั้งเรียงเป็นแนวเดียวกัน มีคูน้ำล้อมรอบ ยกเว้นทางเข้าด้านทิศตะวันออก แม้ว่าศิวลึงค์และทับหลังบางส่วนจะหายไป แต่จากเศษทับหลังที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ทำให้ทราบว่าปราสาทหลังนี้คงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16
ปราสาทหินบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลกังแอน ห่างจากที่ว่าการอำเภอปราสาท 4 กิโลเมตรตามถนนสายสุรินทร์-ปราสาท-ช่องจอม (ทางหลวงหมายเลข 214) มีทางแยกซ้ายมือที่กม. 34-35ไปอีกราว 1 กิโลเมตร ปราสาทหินบ้านพลวงเป็นปราสาทหินขนาดเล็กแต่ฝีมือการสลักหินประณีตงดงามมาก ได้รับการขุดแต่งบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยวิธีอนัสติโลซิส คือการรื้อตัวปราสาทลง เสริมความมั่นคง และประกอบขึ้นใหม่ดังเดิม ลักษณะของปราสาทหินองค์นี้เป็นปรางค์องค์เดียว ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียวส่วนด้านอื่นอีกสามด้านทำเป็นประตู หลอก องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และมีอิฐเป็นวัสดุร่วมก่อสร้างในส่วนบนของปราสาท โบราณสถานแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมจำหลักลายงดงามมาก แต่องค์ปรางค์เหลือเพียงครึ่งเดียว ส่วนยอดหักหายไป มีคูน้ำเป็นรูปตัวยูล้อมรอบ ถัดจากคูน้ำเป็นบาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) ที่เห็นเป็นคันดิน เดิมคงเป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชนมาก่อน ลักษณะของทับหลังที่พบส่วนมาก สลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่ภายในซุ้มเหนือหน้ากาล มีซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ส่วนทางด้านเหนือสลักเป็นรูปพระกฤษณะฆ่านาค สันนิษฐานได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นสำหรับพระอินทร์ นอกจากนี้ช่างมักสลักเป็นรูปสัตว์เรียงเป็นแนว เช่น ช้าง กระรอก หมู ลิง และวัว อยู่บนทับหลังสำหรับด้านทิศตะวันออกสลักเป็นรูปพระกฤษณะ ยกภูเขาโควรรธนะและเช่นเดียวกัน มีรูปสลักเป็นรูปสัตว์เล็ก ๆ นอกกรอบหน้าบันอันน่าจะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งน้ำต่าง ๆ อยู่มาก ที่ผนังด้านหน้ามีรูปทวารบาลยืนกุมกระบอง ลักษณะของปราสาทหินองค์นี้คล้ายกับปรางค์น้อยบนเขาพนมรุ้ง ลวดลายเป็นลักษณะศิลปะขอมแบบบาปวน กำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 จากลักษณะของฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทางด้านข้างขององค์ปรางค์เหลืออยู่มาก สันนิษฐานว่า แผนผังที่แท้จริงของปราสาทแห่งนี้น่าจะประกอบด้วยปรางค์สามองค์สร้างเรียง กัน แต่อาจยังสร้างไม่เสร็จหรืออาจถูกรื้อออกไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นได้ ปราสาทหินบ้านพลวงเปิดให้ชมทุกวัน ระหว่างเวลา 07.30-18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท


กิ่งอำเภอพนมดงรัก
โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง เป็นโบราณสถานแบบขอม 3 หลัง ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ติดแนวชายแดนประเทศไทยและกัมพูชา การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 214 ผ่านอำเภอปราสาท แยกไปตามทางหลวงหมายเลข 2121 ที่จะไปอำเภอบ้านกรวดประมาณ 25 กิโลเมตร มีทางแยกที่บ้านตาเมียง ไปอีก 13 กิโลเมตร
ปราสาทตาเมือน เป็นสิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าคือที่พักคนเดินทางแห่งหนึ่งใน 17 แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเมืองพระนครโปรดให้สร้างขขึ้นจากเมืองยโสธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณไปยังเมืองพิมาย
ปราสาทตาเมือนสร้างด้วยศิลาแลงเช่นเดียวกับโบราณสถานสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พบในดินแดนประเทศไทย มีลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวมีห้อยยาวเชื่อมต่อมาทางด้านหน้า ผนังด้านหนึ่งปิดทึบ แต่สลักเป็นหน้าต่างหลอก ส่วนอีกด้านมีหน้าต่างเรียงกันโดยตลอด เคยมีผู้พบทับหลังเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว 2-3 ชิ้น
ปราสาทตาเมือนโต๊ด เป็นอโรคยาศาล สร้างขึ้นในพืทธศตวรรษที่ 18 ยังคงสภาพเกือบจะสมบูรณ์ ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยื่นทางด้านหน้า ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีบรรณาลัยอยู่ทางด้านหน้าเยื้องไปทางขวาขององค์ปรางค์ ล้อมรอบด้วยกำแพงก่อศิลาแลงเช่นเดียวกัน มีซุ้มประตู (โคปุระ) อยู่ด้านหน้า คือ ด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงด้านหน้ามีสระน้ำเช่นเดียวกับอโรคยาศาลแห่งอื่น ๆ
ตรงห้องกลางของโคปุระได้พบศิลาจารึก 1 หลัก จารึกด้วยอักษรขอมภาษาสันสกฤต เป็นจารึกซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างไว้ประจำอโรคยาศาลแห่งนี้ มีข้อความเช่นเดียวกับจารึกที่พบที่อโรคยาศาลแห่งอื่น ๆ คือ กล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าพระไภษัชยคุรุไวฑูรยะ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ประทานความไม่มีโรคแก่ประชาชนผู้นับถือ และกล่าวถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลในแผนกต่าง ๆ เช่น แพทย์ ผู้ดูแลสถานพยาบาล ปัจจุบันจารึกหลักนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี
ปราสาทตาเมือนธม อยู่ถัดจากปราสาทตาเมือนโต๊ดไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน บนแนวเทือกเขาบรรทัด ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ มีปรางค์ประธานขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ปรางค์อีกสององค์อยู่ถัดไปด้านหลังทางด้านขวาและซ้าย ปรางค์ทั้งสามองค์สร้างด้วยหินทรายหันหน้าไปทางทิศใต้ ที่ปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักที่งดงาม แม้ว่าจะถูกลักลอบทำลายและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
ทางด้านตะวันออกและตะวันตก มีวิหารสองหลังสร้างด้วยศิลาแลง อาคารทั้งหมดมีระเบียงคดซึ่งสร้างด้วยหินทรายล้อมรอบ มีโคปุระทั้งสี่ด้าน โคปุระด้านใต้มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีบันไดทางขึ้นจากเชิงเขาด้านนั้น นอกระเบียงคดทางด้านทิศเหนือมีสระน้ำและที่ลานริมระเบียงคดทางมุขด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มีศิลาจารึกภาษาขอม กล่าวถึงชื่อ พระกัลปกฤษณะ จึงสันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายจำหลักต่าง ๆ ทำให้ทราบได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งเก่าแก่กว่าโบราณสถานอีกสองแห่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน
เนื่องจากโบราณสถานกลุ่มนี้อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชาและสภาพถนนยังเป็นลูกรังขรุขระ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปชมควรคำนึงถึงความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าว โดยสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานทหารที่ดูแลพื้นที่ก่อนเดินทางเข้าไปด้วย

อำเภอกาบเชิง
ตลาดการค้าช่องจอม ตั้งอยู่ที่บ้านด่านพัฒนา ตำบลด่าน ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ 69 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวอำเภอกาบเชิง 13 กิโลเมตร เดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายห้วยทับทัน-ห้วยสำราญและประกาศเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2538 ฝั่งตรงข้ามด้านกัมพูชาเป็นชุมชนโอร์เสม็ด อำเภอสำโรง จังหวัดอุดรมีชัย
ช่องจอมเป็นเส้นทางข้ามแดนที่ใหญ่และสะดวกที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ที่จะไปยังกัมพูชา ทำให้มีการติดต่อสัญจรไปมาและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชาวไทยและกัมพูชามาเป็นเวลาช้านาน และเป็นที่มาของแนวความคิดในการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ ตลาดแห่งนี้เปิดทำการค้าขายและสัญจรไปมาเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 8.00-16.00 น. (อนุญาตให้ข้ามแดนเฉพาะคนไทยเท่านั้น) ประเภทสินค้ามีทั้งสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และสิ่งประดิษฐ์จากไม้ เช่น ม้านั่ง หัตถกรรมไม้ เสื่อสานไม้ๆผ่ ตะกร้าสานต่าง ๆ

อำเภอศรีขรภูมิ
ปราสาทศรีขรภูมิ ตั้ง อยู่ที่ตำบลระแงง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 226 โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปอีก 1 กิโลเมตร ปราสาทศรีขรภูมิประกอบด้วยปรางค์อิฐ 5 องค์ องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน มีปรางค์บริวารล้อมรอบอยู่ที่มุมทั้งสี่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก ปรางค์ทั้งห้าองค์มีลักษณะเหมือนกัน คือ องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีชิ้นส่วนประดับทำจากหินทรายสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ ทั้งส่วนที่เป็นทับหลังและเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง และกลีบขนุนปรางค์ ส่วนหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น องค์ปรางค์ประธานมีทับหลังสลักเป็นรูปศิวนาฏราช (พระอิศวรกำลังฟ้อนรำ) บนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัวอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีรูปพระคเนศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี (นางอุมา) อยู่ด้านล่าง เสาประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดาลายก้ามปูและรูปทวารบาล ส่วนปรางค์บริวารพบทับหลัง 2 ชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เป็นภาพกฤษณาวตาร ทั้งสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์ จากลวดลายที่เสาและทับหลังขององค์ปรางค์ มีลักษณะปนกันระหว่างรูปแบบศิลปะขอมแบบบาปวน (พ.ศ. 1550-1650) และแบบนครวัด (พ.ศ. 1650-1700) จึงอาจกล่าวได้วา ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 หรือต้นสมัยนครวัด โดยสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และคงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ใน ราวพุทธศตวรรษที่ 22 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ปราสาทศีขรภูมิเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.30-18.00 น. อัตราค่าเข้าชมชาวไทย คนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

อำเภอลำดวน
ปราสาทตะเปียงเตีย (แปลว่า หนองเป็ด) ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลโชกเหนือ ภายในบริเวณวัดปราสาทเทพนิมิตร หลักกม. 33-34 ทางหลวงหมายเลข 2077 แยกเข้าทางลูกรังอีก 7 กิโลเมตร ลักษณะปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยม มียอดปราสาท 5 ยอด เป็นรูปบัวตูม ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ ลักษณะการก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบลาว สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

เขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบ อยู่ที่บ้านหนองคู ตำบลโชกเหนือ อำเภอลำดวน เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบที่ถือว่าเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดที่ขึ้นใน ที่ราบสูง เป็นโครงการร่วมระหว่างไทย-เดนมาร์ก มีเนื้อที่ 625 ไร่ มีลักษณะเด่นคือ เป็นสนสองใบที่ขึ้นในที่ราบแห่งเดียวในประเทศไทย อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ประมาณ 35 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-สังขะ (ทางหลวงหมายเลข 2077) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง

อำเภอสังขะ
ปราสาทภูมิโปน ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สายสุรินทร์-สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตร จากแยกอำเภอสังขะเข้าทางหลวงหมายเลข 2124 (สังขะ-บัวเชด) ตรงต่อไปจนถึงบ้านภูมิโปนอีก 10 กิโลเมตร จะเห็นปราสาทอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง และก่อศิลาแลง 1 หลัง มีอายุการก่อสร้างอย่างน้อยสองสมัย ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่และหลังทางทิศเหนือสุด นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือราวพุทธศตวรรษที่ 13 ส่วนปราสาทอิฐหลังเล็กที่ตั้งตรงกลางและปราสาทที่มีฐานศิลาแลงทางด้านทิศใต้นั้นสร้างขึ้นในสมัยหลัง
ปราสาทภูมิโปนคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูไศวนิกายเช่นเดียวกับศาสนสถานแห่งอื่นในรุ่นเดียวกัน แม้ไม่พบรูปเคารพซึ่งควรจะเป็นศิวลึงค์อยู่ภายในปรางค์ แต่ที่ปรางค์องค์ใหญ่ยังมี ท่อโสมสูตร คือ ท่อน้ำมนตร์ที่ต่อออกมาจากแท่นฐานรูปเครรพในห้องกลางติดอยู่ที่ผนังในระดับพื้นห้อง
ปราสาทยายเหงา ตั้งอยู่ที่บ้านสังขะ ตำบลสังขะ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสังขะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมถนนสายโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) ระหว่าง กม. 189-190 แยกไปตามทางลูกรังอีก 800 เมตร เป็นศาสนสถานแบบขอมที่ประกอบด้วยปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่เรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีการแกะสลักอิฐเป็นลวดลายเช่นที่กรอบหน้าบัน เป็นรูปมกร (สัตว์ผสมระหว่างสิงห์ ช้าง และปลา) คาบนาคห้าเศียร จากลักษณะแผนผังของอาคารน่าจะประกอบด้วยปราสาท 3 องค์ตั้งเรียงกัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 องค์ บริเวณปราสาทพบกลีบขนุนยอดปรางค์ เสาประดับกรอบประตู แกะสลักจากหินทราย จัดแสดงไว้ด้านหน้าปราสาท

อำเภอจอมพระ
ปราสาทจอมพระ ตั้งอยู่หมู่ 4 ตำบลจอมพระ ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 26 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 214 (สายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) เข้าตัวอำเภอจอมพระ มีทางแยกขวามือเข้าวัดป่าปราสาทจอมพระอีก 1 กิโลเมตรปราสาทจอมพระมีลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า อโรคยศาล มีโครงสร้างที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก อาคารต่าง ๆ ก่อด้วยศิลาแลงและใช้หินทรายประกอบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแบบอโรคยศาลดังที่พบในที่อื่น คือ ปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขหน้า บรรณาลัยหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางด้านหน้า มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตูรูปกากบาทและสระน้ำนอกกำแพง โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 1 เศียร และรูปพระวัชรสัตว์ 1 องค์เช่นเดียวกัยที่พบที่อโรคยศาลในอำเภอพิมายและที่พระปรางค์วัดกู่แก้ว จังหวัดขอนแก่น โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นรูปเคารพในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน มีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบบายน (ราว พ.ศ. 1720-1780) ซึ่งเป็นแบบศิลปะที่เจริญอยู่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม

อำเภอท่าตูม
หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 และ 13 บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางเหนือตามทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ก่อนถึงอำเภอท่าตูม มีทางแยกซ้ายบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 36 ไปตามทางราดยางอีกประมาณ 22 กิโลเมตร พื้นที่หมู่บ้านเป็นที่นาและป่าละเมาะสลับกับป่าโปร่งเหมาะกับการเลี้ยงช้าง
ชาวบ้านตากลางดั้งเดิมเป็นชาวส่วย หรือ กูย หรือ กวย มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้างและเลี้ยงช้าง ส่วนมาต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชา ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านไม่สามรถไปคล้องช้างเช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้างและฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปี การเลี้ยงช้างของชาวบ้านตากลางไม่เหมือนการเลี้ยงช้างของชาวภาคเหนือที่เลี้ยงไว้ใช้งาน แต่ชาวบ้านตากลางเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน นอนร่วมชายคาเดียวกับตน ดังนั้นถ้าท่านได้ไปที่บ้านตากลาง นอกจากจะได้เห็นสภาพโรงช้างดังกล่าวแล้ว ยังได้สัมผัสการดำรงชีวิตของชาวส่วย พร้อมทั้งได้พบปะพูดคุยกับหมอช้างที่มีประสบการณ์ในการคล้องช้างมาแล้ว และยังสามารถเดินทางไปชมบริเวณที่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกัน ซึ่งห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร มีทัศนียภาพที่งดงามน่าพักผ่อนและชวนให้ศึกษาในเชิงธรรมชาติด้วย
นอกจากนี้ทางจังหวัดยังได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างขึ้นภายในหมู่บ้านด้วย เพื่อรวบรวมประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับช้าง อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการคล้องช้าง และให้ความรู้ในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับช้าง รวมทั้งมีการแสดงช้างให้ชมเป็นประจำในวันเสาร์และอาทิตย์ วันละ 1 รอบ เวลา 9.30-11.00 น. ที่บริเวณลานแสดงช้างของศูนย์คชศึกษา ค่าเข้าชม ชาวไทย 50 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท สอบถามรายละเอียดและจองการแสดงล่วงหน้าได้ที่ ศูนย์คชศึกษา โทร. (01) 910-4326

จังหวัดสุรินทร์เป็นดินแดนที่มีช้างมากมาแต่โบราณ ชาวเมืองในอดีตหรือที่เรียกว่า “ส่วย” ได้จับช้างป่ามาฝึกเพื่อใช้เป็นพาหนะและขนส่งช้าง และการควบคุมบังคับขี่ช้างของชาวสุรินทร์ได้เคยทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยมาแล้ว และเมื่อ “การแสดงของช้าง” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2503 นั้น ทำให้นามของจังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ ได้กำหนดจัดงานนี้ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่สองของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ที่สนามกีฬากลางจังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นงานประจำปีระดับชาติ แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกมาร่วมชมงานนี้ เป็นงานแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย และจังหวัดสุรินทร์ การแสดงของช้างประกอบด้วยการแสดงคล้องช้าง การชักคะเย่อระหว่างคนกับช้าง ช้างแข่งฟุตบอล ช้างเต้นระบำ ขบวนพาเหรด ขบวนช้างศึก รวมทั้งการแสดงศิลปะพื้นเมือง เช่น รำเรือมอัมเร เซิ้งบั้งไฟ ฯลฯ

ปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์
กลุ่มปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ที่บ้านตาเมียง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
ตามรายทางสู่เมืองพระนครของขอม ในอดีตยังไม่มีความรับรู้ในเรื่องพรหมแดนต่างประเทศ มีแต่เพียงแนวทิศเขาดงเร็ก เป็นพรหมแดนธรรมชาติที่กั้นผู้คนสองดินแดนไว้ คนโบราณมมมีการใช้เส้นทางผ่าช่องเขาที่มีอยู่ตลอดแนว ในบางช่องเขามีการสร้างปราสาทหินขนาดเล็ก เช่น ช่องไชตะกูมีปราสาทแบแบก แต่สำหรับที่ช่องตาเมือนหรือตาเมียงนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีปราสาทหินสามหลังอยู่ใกล้ๆกัน เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก เรียกว่ากลุ่มปราสาทตาเมือน โดยปราสาทแต่ละหลังมีขนาดและประโยชน์ที่ใช้สอยแตกต่างกันไป
ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม ตัวปราสาทอยู่บนเนินเขาสร้างคร่อมโขดหินธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ในรูปของ สยัมภูศิวลึงค์ และเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม อยู่ใกล้ดินแดนเขมรมากที่สุด ปราสาทแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ ผิดแผกจากแห่งอื่นซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คงจะรับกับเส้นทางที่มาจากเขมรต่ำผ่านมาทางช่องทางตาเมือนนี้ ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งแปลตรงกับภาษาเขมรว่า ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอาคารอื่น คือปรางค์ก่อด้วยหินทรายสองหลัง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน บรรณาลัยศิลาแลงสองหลัง และนอกระเบียงคดทางทิศเหนือมีสระน้ำขนาดเล็ก สองสระ เนื่องจากปราสาทแห่งนี้อยู่ใกล้เขตชายแดน การเที่ยวชมจึงควรอยู่เฉพาะภายในเขตปราสาทเท่านั้น ไม่ควรเดินออกไปไกลจากแนวต้นไม้รอบปราสาทเพราะพื้นที่นี้ยังไม่ปลอดภัยนัก
ปราสาทตาเมือนโต๊ด อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธม 2.5 กิโลเมตรก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบและมีสระน้ำขนาดเล็กอยู่ทางทิศเหนือหนึ่งสระ โดยเชื่อว่าปราสาทแห่งนี้เป็นอโรคยาศาล ที่รักษาพยาบาลของชุมชนหรือตามรายทางที่เป็นเส้นทางคมนาคม ซึ่งนิยมสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ปราสาทตาเมือน เป็นปราสาทที่เล็กที่สุด ก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นห้องยาว เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา คือที่พักสำหรับคนเดินทาง
กลุ่มปราสาทตาเมือนนี้นับได้ว่าเป็นกลุ่มปราสาทที่มีความสมบูรณ์ในด้าน ของการอำนวยประโยชน์แก่ผู้คนที่ใช้เส้นทางผ่านช่องเขา ซึ่งไม่ปรากฏในถิ่นอื่น การที่มีกลุ่มปราสาทตาเมือนตั้งอยู่ในบริเวณนี้เป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้ เห็นว่า ในอดีตเส้นทางช่องเขาตาเมือนนี้คงจะมีชุมชนหรือเป็นเส้นทางผ่านช่องเขาสำคัญ ของภูมิภาค

การเข้าชม
เนื่องกลุ่มปราสาทนี้ตั้งอยู่ในเขตชายแดนประเทศไทย และเคยเป็นเขตอันตราย เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางเข้าชม ควรติดต่อหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนที่ตั้งด่านอยู่ที่หมู่บ้าน

การเดินทาง
จากจังหวัดสุรินทร์ไปทางอำเภอปราสาทตามทางหลวงหมายเลข 214 จนมาถึงทางแยกตัดกับทางหลวงหมายเลข 2121 ไปตามป้ายบอกทางไปกิ่งอำเภอพนมดงรัก ผ่านด้านตรวจที่บ้านนิคมซอย 16 มาจนถึงทางแยก ให้ใช้เส้นขวาหรือเส้นตรง(หมายเลข 2075) จนพบป้ายบอกทางไปกลุ่มปราสาทตาเมือน ให้เลยป้ายไปอีกหน่อย จะพบทางที่มีป้ายบอกไป ฉก. ตชด. 16 เลี้ยวไปตามถนนเส้นนี้ตรงมาเรื่อยๆ จนพบสี่แยกเลี้ยวขวา ผ่านบ้านหนองคันนา ใช้ทางตรงมาเรื่อยจนพบทางแยก จะพบปราสาทตาเมือนก่อนใกล้ๆกันนั้นมีหน่วยตระเวนชายแดนคุ้มครองนักท่อง เที่ยว ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเพื่อความปลอดภัยในการเที่ยวชมปราสาท
จากบุรีรัมย์ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 219 ที่จะไปบ้านกรวด จนมาถึงแยกที่ตัดกับทางหลวงหมายเลข 2121 เข้าทางหลวงหมายเลข 2121 แล้วไปตามเส้นทางเช่นเดียวกับข้างต้น


ปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

ปราสาทศรีขรภูมิตั้งอยู่บนพื้นที่ราบกลางเมืองโบราณบ้านปราสาท โดยมีบารายขนาดใหญ่อยู่ทางตะวันออกไม่ไกลจากปราสาทนัก สิ่งก่อสร้างหลักคือปราสาท 5 องค์บนฐานเดียวกันที่ยกพื้นสูง มีสระน้ำล้อม 3 ด้าน โดยมีปราสาทองค์กลางเป็นปราสาทประธาน และปราสาทบริวารที่มุมทั้ง 4 ทิศ แม้ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับปราสาทแห่งนี้ แต่นี้ยังคงมีเทวสถานเกี่ยวกับศาสนาฮินดูไศวนิกาย เพราะที่ปราสาทประธานมีทับหลังภาพศิวนาฏราช
ปราสาทศรีขรภูมิ ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบล ระแงง อำเภอ ศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เวลาทำการ 07.30 น.-17.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท

การเดินทาง
จากจังหวัดสุรินทร์มาตามทางหลวงหมายเลข 226 ( สุรินทร์-ศรีขรภูมิฆ ) จะมีทางแยกเข้าสู่เทศบาลอำเภอศรีขรภูมิอยู่ทางด้านซ้าย เลี้ยวไปตามทางจะผ่านสถานีรถไฟ จากนั้นเลี้ยวขวา ตรงไปสามแยก ใช้เส้นทางตรงไปตามเส้นทาง ปราสาทตั้งอยู่ทางขวา
รถโดยสาร สายสุรินทร์ - ศรีสะเกษ ลงตรงปากทางเข้าเขตเทศบาลศรีขรภูมิ ต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้าสู่ปราสาท
รถไฟ จากตัวเมืองสุรินทร์มาลงสถานีศรีขรภูมิ แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้าง


วนอุทยานป่าสนหนองคู จังหวัดสุรินทร์

วนอุทยานป่าสนหนองคูอยู่ในท้องที่ตำบลทับทัน อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสนหนองคู มีเนื้อที่ประมาณ 6,250 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2524

ลักษณะภูมิประเทศ
ป่าสนหนองคูเป็นป่าบนพื้นที่ราบลุ่มในฤดูฝน มีน้ำขังอยู่เป็นบางแห่ง สภาพโดยรอบเป็นทุ่งนา มีร่องรอยการเป็นป่าในอดีตที่สมบูรณ์มาก

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่ามีไม้สนสองใบขึ้นอยู่ทั่วไปผสมกับป่าเต็งรัง มีไม้เหียง พลวง พะยอม กระบก กระบาก เป็นส่วนใหญ่
สัตว์ป่าปัจจุบันมีเฉพาะขนาดเล็ก ได้แก่ กระรอก บ่าง กระต่ายป่า งู แย้ และนกเขา นกกะปูด นกเอี้ยง บางครั้งก็จะมีพบนกเงือกมาอยู่บ้าง
ในปัจจุบันพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งหน่วยงานของสำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ ได้ตั้งหน่วยศึกษาการเจริญเติบโตของไม้สนขึ้น

บ้านพัก-บริการ
วนอุทยานป่าสนหนองคู ไม่มีบ้านพักบริการแก่นักท่องเที่ยว หากมีความประสงค์จะไปพักแรมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ โปรดนำเต็นท์ไปกางเอง แล้วไปติดต่อขออนุญาต ใช้สถานที่กับเจ้าหน้าที่วนอุทยานป่าสนหนองคู โดยตรง
แหล่งท่องเที่ยว
ป่าสนสองใบตามธรรมชาติที่มีอยู่แห่งเดียวในแถบภาคอีสานตอนใต้ ที่ยังคงเหลืออยู่ ปัจจุบันได้มีประชาชนแถบชานเมืองได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาหาความรู้ทางธรรมชาติ

การเดินทาง
รถยนต์ การเดินทางไปวนอุทยานป่าสนหนองคูนี้สามารถเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 2077 จังหวัดสุรินทร์ ไปอำเภอสังขะ ตรงกิโลเมตรที่ 36-37 หรือเดินทางจากทางหลวงสายโชคชัย - เดชอุดม มาทางอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ผ่านอำเภอสังขะไปสุรินทร์ซึ่งห่างจากอำเภอสังขะประมาณ 7 กม. ก็จะถึงวนอุทยานป่าสนหนองคู ถนนหลวงจะผ่านศูนย์กลางพื้นที่วนอุทยานป่าสนหนองคู ที่ทำการวนอุทยานห่างจากถนนใหญ่เพียง 400 เมตร เท่านั้น
สถานที่ติดต่อ
วนอุทยานป่าสนหนองคู สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ต.ทับทัน อ.เมือง จ.สุรินทร์ 32000


วนอุทยานพนมสวาย จังหวัดสุรินทร์

วนอุทยานพนมสวาย อยู่ในท้องที่ตำบลบัว อำเภอเมือง ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสวาย ซึ่งประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 555 (พ.ศ.2516) มีเนื้อที่ประมาณ 2,475 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2527

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่เป็นภูเขาขนาดเล็ก 2 ลูกอยู่ติดกันเรียกรวมว่า พนมสวาย พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ลาดจากเขาไปทางทิศตะวันออก ส่วนทิศตะวันตกค่อนข้างลาดชัน เป็นภูเขาหินที่ลาดห่างจากเขาด้านล่าง ทิศตะวันออกมีการขุดระเบิดหินเป็นบางส่วน มีทำนบกั้นเป็นอ่างเก็บน้ำ 2 แห่งอยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีฝายน้ำล้น 1 แห่ง

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศในบริเวณป่าพนมสวายแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า

สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้ขึ้นไม่หนาแน่น ต้นไม้มีขนาดเล็กแคระแกร็น มีไม้ขนาดกลางอยู่บ้าง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง ติ้ว แต้ว กราด แดง ชัยพฤกษ์ มะขามป้อม กว้าว เป็นต้น
สัตว์ป่าที่พบได้แก่ กระรอก กระต่ายป่า สัตว์ปีกมีบ้างแต่ไม่มากนักได้แก่ นกกระเต็น บ่าง นกกระทาดง นกกวัก นกกระปูด นกกางเขนดง นกเขาหลวง นกเป็ดน้ำและนกเหยี่ยว

บ้านพัก-บริการ

วนอุทยานพนมสวายไม่มีบ้านพักหรือค่ายพักแรมบริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปพักแรมค้างคืนและพักผ่อนหย่อนใจ หรือศึกษาหาความรู้ทางธรรมชาติ โปรดนำเต็นท์และเตรียมอาหารไปเอง โดยทางวนอุทยานได้จัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา ให้ไปติดต่อขออนุญาตใช้สถานที่กับเจ้าหน้าที่ที่วนอุทยานพนมสวายโดยตรง

แหล่งท่องเที่ยว

วนอุทยานพนมสวาย มีปูชนียวัตถุและโบราณสถานที่ประชาชนเลื่อมใสมากและเป็นบริเวณที่มีทิวทัศน์ สวยงามที่ประชาชนนิยมไปพักผ่อนหย่อนใจและ อยู่ไม่ไกลจากชุมชนมากนัก สะดวกแก่การคมนาคม

การเดินทาง

รถยนต์ การเดินทางจากอำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ สะดวกมากโดยไปทางรถยนต์ สายสุรินทร์-ปราสาท ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร และทางลูกรังอัดแน่น 6 กิโลเมตร รวมระยะทางจากอำเภอเมืองถึงวนอุทยานพนมสวาย ประมาณ 20 กิโลเมตร

การติดต่อ
วนอุทยานพนมสวาย สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์ 32000


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน – ห้วยสำราญ จังหวัดสุรินทร์

ประวัติความเป็นมา
สืบเนื่องมาจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินหมู่บ้านจรัส หมู่ที่ 1 อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2536 และทรงทราบว่าป่าเตรียมการสงวนป่าห้วยทับทัน มีสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีแหล่งน้ำอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีพระราชดำริที่จะให้มีการอนุรักษ์ป่าแห่งนี้ โดยจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เพื่อให้ป่าแห่งนี้ได้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแหล่งต้นน้ำลำธารสืบไป

สถานที่ตั้ง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ครอบคลุมพื้นที่ 313,750 ไร่ ตั้งอยู่ใน ท้องที่ตำบล กาบเชิง ตำบลโคกตะเคียน ตำบลตะเคียน ตำบลด่าน ตำบลแนงมุด ตำบลยักได ตำบลตาเมียว อำเภอกาบเชิง ตำบลตาตุม ตำบลเทพรักษา อำเภอสังขะ และตำบลอาโพน ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์

ลักษณะภูมิประเทศ

มีลักษณะป็นที่ราบและเทือกเขาสูงชัน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 200-476 เมตรจึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สามารถส่งน้ำไปช่วยเหลือและพัฒนาพื้นที่ราบ ชายแดนในโครงการต่างๆ มีลำห้วยที่สำคัญหลายสายคือ ห้วยสิงห์ ห้วยประเดก ห้วยขนาดมอญ ห้วยจรัส ห้วยหมอนแบก ห้วยสำราญ ห้วยเสียดจะเอิง ห้วยจำเริง ฯลฯ จึงมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นในพื้นที่ เช่น อ่างเก็บน้ำจรัส อ่างเก็บน้ำขนาดมอญ อ่างเก็บน้ำขยอง อ่างเก็บน้ำห้วยสิงห์ อ่างเก็บน้ำห้วยเขิง อ่างเก็บน้ำห้วยด่าน อ่างเก็บน้ำตาเกาว์และอ่างเก็บน้ำห้วยจำเริง อันเป็นผลให้พื้นที่มีความชุ่มชื้นโดยทั่วไป มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ปราศจากการรบกวนกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานา ชนิดภูมิประเทศที่ติดแนวชายแดนมีความสวยงาม โดยเฉพาะใกล้เขตชายแดนประเทศไทยกับกัมพูชาประชาธิปไตย พื้นที่ยิ่งสูงขึ้นเป็นป่าทึบ มีภูเขาสลับซับซ้อนตลอดแนวชายแดนและเป็นหุบเหว มีหน้าผาลึกไปทางกัมภูชา

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ อยู่ใต้อิทธิพลของลมมรสุมซึ่งเป็นลมพัดประจำฤดู 2 ฤดู โดยพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาวเรียกว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้อากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง ลมมรสุมอีกชนิดหนึ่งคือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งลมชนิดนี้จะพัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศใต้ เป็นส่วนใหญ่ในฤดูฝน มีผลทำให้อากาศชุ่มชื้นและมีฝนตกชุกทั่วไป

ชนิดป่าและพรรณไม้

สภาพป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ (เบญจพรรณแล้ง-เบญจพรรณชื้น) และป่าดิบแล้ง พรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้ยาง ไม้กระบาก ไม้ประดู่ ไม้มะค่าโมง ไม้ตะเคียนทอง ไม้ตะเคียนหิน ไม้กราด ไม้พะยอม ไม้เขล็ง ไม้พันจำ ไม้ตะแบกใหญ่ ไม้มะค่าแต้ ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้พันชาด ไม้ชิงชัน และไม้เขว้า เป็นต้น

สัตว์ป่า

มีสัตว์ป่าอยู่หลายชนิดอยู่มากมาย เช่น เก้ง กวาง ลิ่น วัวแดง กระจง ลิง ค่าง ชะนี สือโคร่ง เรียงผา อีเห็น แมวดาว ชะมด เม่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมูป่า และกระจงมีอยู่จำนวนมากทั่วพื้นที่ สัตว์ที่มีลักษณะเด่นในพื้นที่ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ เก้ง

แหล่งความงามตามธรรมชาติ

ทุ่งหญ้า/ป่าไม้ ได้แก่ ทุ่งหญ้าช่องปลดต่าง ทุ่งหญ้าเขาแหลม อำเภอกาบเชิงจังหวัดสุรินทร์
ภูเขา/เนินเขา/หน้าผา ได้แก่ เนินเขาช่องปลดต่าง เนินเขา300 เนินเขา400 ช่องเหว อำเภอกาบเชิง อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
ลำน้ำ/แอ่งน้ำธรรมชาติได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยตาเกาว์ บริเวณบ้านเขื่อนแก้ว อ่างเก็บน้ำห้วยเขิง บริเวณบ้านสนวนตั้งอยู่อำเภอกาบเชิงจังหวัดสุรินทร์
จุดชมทิวทัศน์ ได้แก่ ช่องคันทิ้ง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ พุทธอุทยานเขาศาลา ตำบลจรัส อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์
แหล่งโบราณคดี ปราสาทตาเมือน ที่บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมือง กิ่งอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทเก่าแก่มีอายุประมาณ 1,700 ปี

เส้นทางการคมนาคม
การเดินทางเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้โดยรถยนต์ออกจากกรุงเทพฯ-นครราขสีมา-อุบลราชธานี ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (ถนนโชคชัย-เดชอุดม) พอถึงทางแยกเข้าจังหวัดสุรินทร์ ที่อำเภอปราสาท เลี้ยวขวาไปตามเส้นทาง ปราสาท-ช่องจอม ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 ผ่านที่ว่าการอำเภอกาบเชิงไปประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามป้ายบอกทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยทับทัน-ห้วยสำราญอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ผ่านอ่างเก็บน้ำห้วยตาเกาว์ไปตามเส้นทางช่องปลดต่างจะถึงสำนักงานเขตฯ ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 4 กิโลเมตร รวมระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงที่ทำการเขตฯ ประมาณ 455 กิโลเมตร


ข้อมูลงานประเพณี ของฝาก จังหวัดสุรินทร์

งานประเพณีบวชนาคแห่ช้าง จัดขึ้นในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6 (ราวกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ณ วัดแจ้งสว่าง บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จะมีการแห่แหนบรรดานาคด้วยขบวนช้างกว่า 50 เชือก ข้ามลำน้ำมูลกันอย่างเอิกเกริก พิธีโกนผมนาค พิธีแห่นาคช้างไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าพ่อวังทะลุ และพิธีอุปสมบทนาค
จังหวัดสุรินทร์มีชื่อเสียงในด้านผ้าไหมที่ไม่เป็นรองใคร มีวิธีการทอที่ประณีต ลวดลายการทอและสีที่เป็นเอกลักษณ์ มีแหล่งผลิตผ้าไหมในหมู่บ้านหลายท้องที่ ซึ่งผู้สนใจสามารถไปชมวิธีการทอและเลือกซื้อได้โดยสะดวก
แหล่งผลิตผ้าไหมที่สำคัญ มีดังนี้
- บ้านเขวาสินรินทร์ กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กม.
- บ้านสวาย ตำบลสวาย อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กม.
- บ้านอู่โลก ตำบลอู่โลก อำเภอลำดวน ห่างจากตัวเมือง 35 กม.
- บ้านเทนมีย์ ตำบลเทนมีย์ อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กม.
- บ้านจันรม ตำบลตาอ็อง อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมือง 15 กม.
ในตัวเมืองมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ผ้าฝ้าย อยู่หลายร้าน โดยเฉพาะบริเวณถนนจิตรบำรุงและถนนธนสาร
ร้านจำหน่ายของฝากประเภทของกินประเภทกุนเชียง หมูหยอง หมูแผ่นและหัวผักกาดดอง ได้แก่
- เฮียง เฮียง 95 ถนนกรุงศรีใน
- ลิ้มอี่เฮียง ถนนธนสาร โทร. 511366
- สหรส 119 ถนนกรุงศรีใน โทร. 511775
จังหวัดสุรินทร์มีช่างทำเครื่องเงินที่มีฝีมือประณีต การขึ้นรูปเงินทั้งในแบบเครื่องประดับและของใช้ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบของเขมรนำมาดัดแปลง เป็นที่ยอมรับในคุณภาพอย่างมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถไปซื้อได้ที่ร้านจำหน่ายเครื่องเงินที่ตลาดเขวาสินรินทร์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร


0 ความคิดเห็น: