00:21

จังหวัดขอนแก่น

พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูน ศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยว
เที่ยวขอนแก่นนครใหญ่ ไดโนเสาร์สิรินธรเน่ สุดเท่เหรียญทองมวยโอลิมปิก

http://www.igetweb.com/www/khonkaenjob/private_folder/watpasangaroon2.jpg
สิมอีสาน (วัดป่าแสงอรุณ) - ขอนแก่น

ข้อมูลทั่วไป :

ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรากฏหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ และมนุษยวิทยา ว่าอาณาเขต จังหวัดขอนแก่น เคยเป็นดินแดน ที่มีผู้คนอาศัย ตั้งบ้านเรือน อยู่เจริญรุ่งเรือง มีอารยธรรมสูงส่ง มาก่อนสมัยประวัติศาสตร์ และคาบเกี่ยวกับ สมัยประวัติศาสตร์ ทำให้ขอนแก่น เป็นเมืองที่มีมรดกทางวัฒนธรรม ของชนชาติโบราณมากมาย ดังปรากฏ ร่องรอยให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ภาพเขียนสี ที่ถ้ำฝ่ามือแดง อำเภอภูเวียง เมืองโบราณ สมัยทวาราวดี ที่อำเภอชุมแพ เสมาหิน ที่เมืองชัยวาน อำเภอมัญจาคีรี และศาสนสถาน สมัยขอม ที่อำเภอเปือยน้อย จัดเป็นปราสาทหิน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่พบในจังหวัดขอนแก่น และอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก

ปัจจุบันขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางการท่อง เที่ยว ทั้งทางธรรมชาติ และโบราณสถานมากมาย มีความเจริญรุ่งเรือง ในด้านต่างๆ เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา คือ เป็นที่ตั้ง ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ มีผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว และผู้มาเยือน เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ที่อำเภอชนบท นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและสะดวกในการคมนาคมตลอดปี

ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในอำเภอเมือง รถโดยสารประจำทาง วิ่งบริการหลายสาย มีที่พักบริการ หลายระดับ ตั้งแต่ห้องพักราคาย่อมเยาว์ ไปจนถึงโรงแรมระดับห้าดาว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัย ที่ส่งเสริมศักยภาพ ทางการท่องเที่ยว ด้วย ขอนแก่นมีพื้นที่ประมาณ 10,885 ตารางกิโลเมตร

ประวัติความเป็นมา :

หากจะอ้างถึงประวัติ ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเริ่มก่อตั้งเป็นเมือง มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 อายุเพียงแค่สองร้อยกว่าปี ก็คงจะกล่าวไม่ได้ว่า เป็นเมืองเก่า แต่ที่จริงแล้ว ดินแดนบนที่ราบสูงแห่งนี้ มีประวัติศาสตร์ ที่ยาวนานมาก ไม่ว่าจะเป็นทางธรรมชาติ หรือทางอารยธรรม ดังที่มีการค้นพบซากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ อายุนับล้านปี พบชุมชนเมืองโบราณ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หลายแห่ง ตลอดจนปราสาทขอม สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วยอารยธรรม ที่สั่งสมมา ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สิ่งที่พบที่นี่ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรม ประเพณี โบราณสถานต่างๆ จึงล้วนเป็นส่วนหนึ่ง ที่สะท้อนให้ทราบความเป็นมาของคนไทยและชาติไทย

การเดินทาง :

ทางรถยนต์

ขอนแก่นอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางรถยนต์ 449 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรี ตรงหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมาถึงจังหวัดขอนแก่น

อีกเส้นทางหนึ่ง เมื่อถึงสระบุรีแล้วตรงไปตามถนนสระบุรี-ลำนารายณ์ แยกขวาเข้าเส้นทางม่วงค่อม-ด่านขุนทด-ชัยภูมิ-ขอนแก่น หรือสระบุรี-อำเภอลำนารายณ์-อำเภอเทพสถิต-ชัยภูมิ-อำเภอมัญจาคีรี-อำเภอพระ ยืน-ขอนแก่น

ทางรถไฟ

ขบวนรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ผ่านจังหวัดขอนแก่น ไปจังหวัดอุดรธานี และหนองคายทุกวัน รถที่ให้บริการมีทั้งรถเร็ว รถด่วน และรถด่วนดีเซลรางปรับอากาศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010,0 2223 7020 สถานีรถไฟขอนแก่น โทร. 0 4322 1112 www.railway.co.th

ทางรถโดยสารประจำทาง

ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง รถออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิต 2 ) มีรถโดยสารธรรมดา รถปรับอากาศ และรถนอนพิเศษชนิด 24 ที่นั่ง วิ่งบริการทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0 2936 2852-66 สถานีขนส่งขอนแก่น (รถธรรมดา) 0 4323 7472 สถานีรถปรับอากาศ 0 43 23 9910 www.transport.co.th

ทางรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศ

บริษัทขนส่งจำกัด และรัฐวิสาหกิจรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์ ร่วมเปิดเส้นทางเดินรถระหว่าง ขอนแก่น-นครหลวงเวียงจันทน์ โดบจัดรถปรับอากาศมาตรฐาน 45 ที่นั่ง ให้บริการ 2 เที่ยวต่อวัน มีต้นทางและปลายทางที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่น แห่งที่ 2 และ สถานีรถเมล์ขนส่งผู้โดยสารตลาดเช้า นครหลวงเวียงจันทน์ โดยไม่มีจุดจอดระหว่างทาง

ตารางเดินรถระหว่างประเทศเส้นทาง ขอนแก่น-เวียงจันทน์


เวลาเดินรถ
ขอนแก่น

เวลาเดินรถ
นครเวียงจันทน์

ระยะเวลาเดินทาง

ราคาค่าโดยสาร

เที่ยวแรก

08.15 น.

08.15 น.

4 ชั่วโมง

180 บาท/50,000 กีบ

เที่ยวสอง

14.15 น.

14.15 น.

4 ชั่วโมง

180 บาท/50,000 กีบ

ทางเครื่องบิน

บมจ. การบินไทย เปิดบริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ บมจ. การบินไทย โทร. 1566,0 2628 2000 www.thaiairways.com และ สำนักงานขอนแก่น โทร.0 4322 7701-5 หรือสายการบินไทย แอร์ เอเชีย โทร.0 2515 9999 www.airasia.com

การคมนาคมภายในตัวจังหวัด จ.ขอนแก่น

มีบริการรถโดยสารให้เลือกหลายประเภท ได้แก่ รถตุ๊กๆค่าโดยสารเริ่มต้นที่ราคา 30 บาท สามล้อปั่นราคาเริ่มต้นคือ 20 บาท ส่วนใหญ่จะวิ่งบริการภายในตัวเมืองและเขตเทศบาล

รถโดยสารประจำทางขนาดเล็กวิ่งบริการในเขตเมืองขอนแก่นหลายสาย มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ นอกจากนั้นยังมีรถโดยสารวิ่งระหว่างอำเภอเมืองขอนแก่นไปยังอำเภอต่างๆ ตลอดวัน

การเดินทางจากอำเภอเมืองขอนแก่นไปยังอำเภอต่าง ๆ

อำเภอเมือง - กิโลเมตร
อำเภอบ้านแฮด 18 กิโลเมตร
อำเภอบ้านฝาง 22 กิโลเมตร
อำเภอพระยืน 30 กิโลเมตร
อำเภอซำสูง 39 กิโลเมตร
อำเภอน้ำพอง 43 กิโลเมตร
อำเภอบ้านไผ 44 กิโลเมตร
อำเภอหนองเรือ 45 กิโลเมตร
อำเภออุบลรัตน์ 50 กิโลเมตร
อำเภอชนบท 55 กิโลเมตร
อำเภอมัญจาคีรี 58 กิโลเมตร
อำเภอโนนศิลา 58 กิโลเมตร
อำเภอเขาสวนกวาง 59 กิโลเมตร
อำเภอกระนวน 66 กิโลเมตร
อำเภอภูเวียง 68 กิโลเมตร
อำเภอแวงใหญ 72 กิโลเมตร
อำเภอพล 74 กิโลเมตร
อำเภอโคกโพธิ์ไชย 75 กิโลเมตร
อำเภอเปือยน้อย 80 กิโลเมตร
อำเภอหนองนาคำ 80 กิโลเมตร
อำเภอชุมแพ 82 กิโลเมตร
อำเภอแวงน้อย 96 กิโลเมตร
อำเภอหนองสองห้อง 96 กิโลเมตร
อำเภอภูผาม่าน 109 กิโลเมตร
อำเภอสีชมพู 114 กิโลเมตร

อาณาเขตและการปกครอง :

ขอนแก่น แบ่งการปกครองออกเป็น 20 อำเภอ 3 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอภูเวียง อำเภอบ้านไผ่ อำเภอพล อำเภอน้ำพอง อำเภอชุมแพ อำเภอมัญจาคีรี อำเภอหนองเรือ อำเภอกระนวน อำเภอหนองสองห้อง อำเภอชนบท อำเภอสีชมพู อำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ อำเภออุบลรัตน์ อำเภอบ้านฝาง อำเภอเขาสวนกวาง อำเภอพระยืน อำเภอเปือยน้อย อำเภอภูผาม่าน กิ่งอำเภอหนองนาคำ กิ่งอำเภอซำสูง และกิ่งอำเภอโคกโพธิ์ชัย รวมพื้นที่ประมาณ 10,855,991 ตารางกิโลเมตร

ทิศเหนือ จดจังหวัดอุดร หนองบัวลำภู และ จังหวัดเลย
ทิศใต้ จดจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์
ทิศตะวันออก จดจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม
ทิศตะวันตก จดจังหวัดเพชรบูรณ์ และ จังหวัดชัยภูมิ


ที่เที่ยว
อุทยานแห่งชาติน้ำพอง
ข้อมูลทั่วไป :

อุทยานแห่งชาติน้ำพอง มีพื้นที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่ 123,125 ไร่ อยู่ในลุ่มน้ำชี ลำน้ำพองตอนบน จัดตั้งขึ้นเนื่องจากจังหวัดขอนแก่นเสนอกรมป่าไม้ให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่ง ชาติ เป็นป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี และป่าต้นน้ำลำธารชั้น 1 เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ สัตว์ป่า และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโสกแต้ และป่าอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี ป่าภูเม็ง ป่าโคกหลวง ป่าโคกหลวงแปลงที่ 3 ป่าภูผาดำ และป่าภูผาแดง

การเดินทาง :

ระยะทางจากจังหวัดขอนแก่น ถึงอำเภอหนองเรือ 30 กิโลเมตร และระยะทางจากอำเภอหนองเรือ ถึงสำนักงานอุทยานแห่งชาติน้ำพอง 19 กิโลเมตร สภาพถนนส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยาง

สิ่งอำนวยความสะดวก :

อุทยานแห่งชาติน้ำพอง มีบ้านพักจำนวน 2 หลัง พักได้ทั้งหมด 203 คน มีสถานที่กางเต้นท์ 1 แห่ง พักได้ทั้งหมด 100 คน พร้อมสวัสดิการของอุทยานฯ

สนใจติดต่อได้ที่งานบริการบ้านพัก ฝ่านนันทนาการและสื่อความหมาย ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร.5797223 , 5795734 หรือโทร.5614292-4 ต่อ 724 , 725

ลักษณะภูมิประเทศ :

เป็นภูเขาสูง 200 - 600 เมตร เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำน้ำพอง ลำน้ำชี ลุ่มน้ำชั้น 1 เป็นหินทราย หินดินดาน ชุดเขาพระวิหาร ชุดภูกระดึง ชุดเสาขัว ดินเป็นดินชุดโคราช ดินชุดบรบือ ดินชุดน้ำพอง ดินชุดสะตึก สูงจากระดับน้ำทะเล 180 - 690 เมตร สภาพความลาดชันของพื้นที่ พื้นที่เป็นภูเขา หน้าผาความลาดชันมีตั้งแต่ 20-60% แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคจากอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์และอ่างเก็บน้ำชลประทานรอบ พื้นที่ ทิศเหนือจรดทางหลวงหมายเลข 201 และ229

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า :

อุทยานแห่งชาติน้ำพอง มีสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมายหลายชนิด สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ เก้ง และหมูป่า สัตว์ป่าที่มีลักษณะเด่นในพื้นที่ คือ เก้ง

จุดเด่นที่น่าสนใจ :
อุทยานแห่งชาติน้ำพอง มีจุดชมวิว ทิวทัศน์สภาพป่า และทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์และหน้าผาที่สวยงาม ซึ่งอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ลำน้ำพอง ลำน้ำชี และเป็นลุ่มน้ำชั้น 1 จุดเด่นที่น่าสนใจได้แก่ ผาสวรรค์ อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ หาดหนองเรือ หินช้างสี พลาญชาด ฤดูการท่องเที่ยวจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนมกราคมของทุกปี

อุทยานแห่งชาติภูเวียง

ข้อมูลทั่วไป :

คำว่า "ภูเวียง" เป็นชื่อท้องที่อำเภอที่เก่าแก่อำเภอหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น และยังเป็นชื่อเรียกเทือกเขาซึ่งปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่า ภูเวียงให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 215 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2534 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 71 ของประเทศ

มีหลักฐานว่าป่าภูเวียงเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มี อารยธรรมเมื่อหลายพันปีล่วงมาแล้ว มีการขุดพบกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องมือ เครื่องใช้ โลหะสำริด พระนอนสมัยทวาราวดี รวมทั้งภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำ(หลืบเงิน)บนเทือกเขาภูเวียง นอกจากนั้นเมื่อประมาณปี 2519 มีการค้นพบรอยเท้าและซากกระดูกไดโนเสาร์ อายุเกือบ 200 ล้านปี

ป่าภูเวียงมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ตำบลกุด ตำบลในเมือง ตำบลบ้านโคก ตำบลเขาน้อย ตำบลขนวน ตำบลบ้านเรือ ตำบลเมืองเก่าพัฒนา ตำบลสงเปือย ตำบลนาชุมแสง อำเภอภูเวียง ตำบลวังเพิ่ม ตำบลศีสุข ตำบลนาจาน อำเภอสีชมพู และตำบลวังหินลาด ตำบลเสาเส้า ตำบลหนองไผ่ ตำบลขรัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น มีเนื้อที่ประมาณ 325 ตารางกิโลเมตร หรือ 203,125 ไร่

การเดินทาง :

จากตัวเมืองขอนแก่นใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) เป็นระยะทาง 48 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2038 เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร ถึงอำเภอภูเวียง แล้วใช้เส้นทางภูเวียง-บ้านเมืองใหม่ ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 23 จะเป็นบริเวณที่เรียกว่า “ปากช่องภูเวียง” มีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูเวียงตั้งอยู่เพื่อให้บริการสอบถามข้อมูลการ เที่ยวชม เดินทางต่อไปจนถึงกิโลเมตรที่ 30 เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าอ่างเก็บน้ำบ้านโพธิ์ เป็นระยะทาง 7.7 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียง ที่ภูประตูตีหมา ภายในอาคารมีการจัดแสดงซากกระดูกส่วนต่างๆ ของไดโนเสาร์ที่ขุดพบบริเวณภูเวียง โดยมีคำอธิบายการลักษณะและการเกิดซากต่างๆ เหล่านี้

สิ่งอำนวยความสะดวก :

การเข้าชมอุทยานฯ และที่พัก ติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ บริเวณภูประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ทุกวัน และหากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ขอเจ้าหน้าที่นำชม สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. (043) 291393

ลักษณะภูมิประเทศ :

สภาพภูมิประเทศ บนเทือกเขาสูงภูเวียงมีลักษณะเป็นภูเขารูปแอ่งคล้ายปล่องภูเขาไฟหรือกะทะ คว่ำ ล้อมรอบไปด้วยภูเขารูปวงแหวน 2 ชั้น มีที่ราบลุ่มตอนกลาง บริเวณตีนเขาบางแห่งเป็นหน้าผาสูงชัน หากขึ้นไปบนยอดเขาจะมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างสวยงาม

อุทยานแห่งชาติภูเวียงตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราช มีลักษณะเป็นหินชั้นที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนบนแผ่นดินหนากว่า 4,000 เมตร ชั้นของหินตะกอนมักมีสีแดงเกือบทั้งหมด เรียกว่าหินชั้นตะกอนแดง หรือกลุ่มหินโคราช แบ่งออกได้เป็น 7 หมวด คือ หมวดหินโคกกรวด หมวดหินภูพาน หมวดหินเสาขรัว หมวดหินเขาพระวิหาร หมวดหินภูกระดึง หมวดหินน้ำพอง และหมวดหินห้วยหินลาด หินดังกล่าวถูกปกคลุมด้วยตะกอนร่วนและดินยุคควอเทอน์รี และยุคปัจจุบัน ซึ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงยังมีการสำรวจสายยูเรเนียมในพื้นที่อีก ด้วย

ลักษณะภูมิอากาศ :
อุณหภูมิเฉลี่ย 26 องศาเซลเซียส สภาพภูมิอากาศ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ จึงแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้
ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม - กรกฎาคม
ฤดูฝน ระหว่างเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน
ฤดูหนาว ระหว่างเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า :

สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง สลับกับป่าดิบแล้งทำให้มีพันธุ์ไม้ที่มีค่าหลายชนิด เช่น ไม้มะค่า ตะแบก เต็ง รัง ตะเคียน แดง เหียง พลวง ชิงชัน ยมหิน ยมหอม จันทร์ดง ยาง ไม้พื้นล่างได้แก่ สาบเสือ เฟิร์นชนิดต่างๆ หวาย ปรง ไม้ไผ่ หญ้าเพ็ก กล้วยป่า

สัตว์ป่าประกอบด้วย เก้งหรือฟาน กระจง เลียงผา สุนัขจิ้งจอก ชะมด เสือปลา แมวดาว เม่น กระรอก กระรอกบิน กระแต บ่าง ลิง อ้น แลน ตะกวด งูชนิดต่างๆ แย้ ไก่ป่า ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว นกขุนทอง นกแขกเต้า นกพิราบป่า นกเขาเขียว นกกางเขนดง นกกะรางหัวหงอก นกเขาเปล้า นกกระทา เหยี่ยว นกขุนแผน นกบั้งรอก นกโพระดก นกเค้าแมว นกแซงแซว เป็นต้น


จุดเด่นที่น่าสนใจ :

หลุมขุดคันไดโนเสาร์
ในปี 2519 ระหว่างการสำรวจหาแหล่งแร่ยูเรเนียม นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณีได้พบกระดูกหัวเข่าด้านซ้ายของไดโนเสาร์ซอโรพอด ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ บริเวณที่พบเป็นชั้นหินหมวดเสาขรัว จึงทำให้ประมาณอายุได้ว่าไดโนเสาร์ที่พบมีอายุประมาณ 160 ล้านปีมาแล้ว นับว่าเป็นการค้นพบไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย จากนั้นเป็นต้นมา กรมทรัพยากรธรณีได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงทำการสำรวจหา ร่องรอยและค้นพบซากฟอสซิลของโลกยุคโบราณในพื้นที่บริเวณทั่วๆไป พบร่องรอยและซากสัตว์ในยุคโลกล้านปีหลายแห่ง จึงได้มีการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ที่ 1,2,3

พระพุทธไสยาสน์
ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาภูเวียงระหว่างอำเภอชุมแพและอำเภอภูเวียง ใกล้บ้านโคกสะอาด ตำบลไชยสอ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เป็นพระพุทธรูปแบบทวาราวดีปางไสยาสน์ สลักอยู่บนหน้าผายาว 3.75 เมตร หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตกและหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ ปัจจุบันพระพุทธรูปยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

ถ้ำฝ่ามือแดง
ตั้งอยู่ใกล้บ้านหินร่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ลักษณะเป็นก้อนหินทรายขนาดใหญ่ หลืบหินลึกประมาณ 7 เมตร สูง 3 เมตร ยาว 50 เมตร ผนังมีภาพลายมือหันไปทางทิศตะวันออก เป็นภาพมือขนาดใหญ่ 7 มือ ขนาดเล็ก 2 มือ โดยวิธีเอามือทาบกับผนังหินและพ่นสีแดงเรื่อๆ สำรวจพบโดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2507 แต่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน

ถ้ำคนนอน
อยู่ใกล้น้ำตกทับพญาเสือ บ้านหินร่อง ตำบลในเมืองเก่า อำเภอภูเวียง เป็นภาพลอยเส้นโค้งหักงอต่อกับลายเส้นกากบาท 2 รูป และเป็นลายเส้นผสมกับลายจุดบนก้อนหินทรายกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตร ภาพเขียนอยู่บริเวณหลืบหินด้านทิศใต้ เขียนด้วยสีแดงคล้ายน้ำหมาก

ถ้ำหินลาดหินเมย
อยู่ห่างจากถ้ำฝ่ามือแดงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 300 เมตร เป็นแหล่งหินทรายขนาดใหญ่ มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นภาพลายเส้นลากเป็นทาง ขนาดรูปเส้นโค้งขนานลายแบบหัวลูกศรและรูปตัววายหัวกลับ ปัจจุบันยังไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน

น้ำตกทับพญาเสือ
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของถ้ำฝ่ามือแดง ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็นน้ำตก 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นน้ำตกขนาดกลาง สูงประมาณ 8 เมตร มีธรรมชาติที่งดงาม ชั้นที่สองเป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีน้ำไหลลาดตามลำห้วย ยาวประมาณ 100 เมตร ธรรมชาติสองข้างทางร่มรื่นสวยงาม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน

น้ำตกลาดจำปา
ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอบ้านขามป้อม ตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ใกล้บ้านอ่างเก็บน้ำหัวภูชน ห่างทางทิศเหนือบนเทือกเขาระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง น้ำจะไหลมาจากภูเขามากกว่า 20 เมตร มีน้ำมากในฤดูฝน

น้ำตกตาดกลาง
ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลในเมือง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ อยู่ในเส้นทางบ้านโคกสูงถึงรอยเท้าไดโนเสาร์ที่หินลาดป่าชาด ถึงทุ่งใหญ่เสาอาราม ห่างจากรอยเท้าไดโนเสาร์ประมาณ 4 กิโลเมตร

น้ำตกตาดฟ้า
ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลในเมือง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น อยู่ห่างจากทุ่งใหญ่เสาอารามประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากบ้านโคกสูงประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูงประมาณ 25 เมตร สภาพป่าเป็นป่าดิบที่สมบูรณ์ ทางอุทยานได้จัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์ไว้สำหรับผู้ประสงค์จะพักแรม ปัจจุบันทางขึ้นเป็นทางชักลากไม้เก่า สามารถเดินทางโดยเท้า

ทุ่งใหญ่เสาอาราม
ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลในเมือง อำเภอภูเวียง ห่างจากน้ำตกตาดฟ้าไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่บนเทือกเขาภูเวียง มีตำนานว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวป่าในสมัยก่อน มีสภาพทิวทัศน์ของทุ่งหญ้าและป่าเบญจพรรณกว้างไกลสุดสายตางดงาม นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ป่าที่ขึ้นอยู่หลากหลาย และสัตว์ป่าที่หายากชนิดต่างๆ

อ่างเก็บน้ำหัวภูชน
ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านขามป้อม ตำบลขัวเรียง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ห่างจากถนนเส้นขอนแก่น-ชุมแพ ก่อนถึงชุมแพ จากบ้านโคกสูง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง น้ำใสสะอาดตลอดปี

หินลาดอ่างกบ
ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลในเมือง อำเภอภูเวียง อยู่ห่างจากรอยเท้าไดโนเสาร์ที่หินลาดป่าชาด ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นลานหินขนาดใหญ่ มีก้อนหินเรียงราย เหมือนกิจกรรมทางธรรมชาติที่งดงามรายรอบไปด้วยป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ชุ่ม ชื้น ในช่วงหลังฤดูฝนมีดอกไม้ป่า เช่น ม้าวิ่ง กระดุมเงิน กล้วยไม้ดิน หยาดน้ำค้างโครงเครง ฯลฯ ขึ้นอยู่ดาษดื่นงดงามมาก

หินลาดวัวถ้ำกลาง
ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง เป็นลานหินขนาดกลางขนาดกว้าง 40 ไร่ ลาดเอียงมาจากเทือกเขา รูปร่างแปลกประหลาดคล้ายรูปสัตว์ จุดนี้สามารถชมทัศนียภาพของแอ่งภูเวียงได้เป็นอย่างดี



อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน

ข้อมูลทั่วไป :

มีเนื้อที่ประมาณ 218,750 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และเขตอำเภอภูผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2534 สภาพทั่วไปยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าดงดิบ และป่าไม้เบญจพรรณ สภาพอากาศเหมือนที่ภูกระดึงของจังหวัดเลย คือ จะมีอากาศเย็นและชื้นเกือบตลอดปี มีพันธุ์ไม้มีค่าหลายชนิดอยู่หนาแน่น พันธุ์ไม้พิเศษคือ ไม้ลาน กรมป่าไม้ได้จัดตั้งโครงการพัฒนาป่าดงลานในรูปหมู่บ้านป่าไม้ในเขตป่าสงวน แห่งชาติดงลาน ณ ที่ตั้งที่ทำการโครงการพัฒนาป่าดงลาน 4 ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอภูผาม่านประมาณ 15 กิโลเมตร สามารถค้างแรมได้ นอกจากนี้บริเวณที่ทำการโครงการมีแปลงเกษตรทดลองปลูกพืชเมืองหนาวหลายแปลง ภูมิประเทศรอบโครงการงดงามสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน โดยเฉพาะผู้ที่ชอบการท่องเที่ยวประเภทป่าเขาลำเนาไพร

การเดินทาง :

1.จากกรุงเทพฯ โดยรถประจำทางและรถปรับอากาศกรุงเทพฯ - เลย , กรุงเทพฯ-เชียงคาน ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 112 - 113 เลี้ยวขวาเข้าถนนลูกรังประมาณ 5 กิโลเมตร

2.จากขอนแก่น โดยรถยนต์โดยสาร (ขอนแก่น - เลย) ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ลงที่หลักกิโลเมตรที่ 112 - 113 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนลูกรัง 5 กิโลเมตร

สิ่งอำนวยความสะดวก :

เนื่องจากอุทยานเพิ่งจัดตั้งได้ไม่นาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จึงยังไม่มี นักท่องเที่ยวต้องเตรียมเครื่องนอน เต็นท์และอาหารมาเอง โดยติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น 40350 หรือที่ส่วนอำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 5797223 , 5795734 หรือ 5614292 - 4 ต่อ 724,725

ลักษณะภูมิประเทศ :

ลักษณะภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาหินปูน ที่มีความสูงชันสลับซับซ้อนกันเป็นแนวยาว สลับกับที่ราบลุ่มเชิงเขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 200 - 800 เมตร มีลำห้วยสำคัญหลายสาย ไหลลงสู่ลำน้ำพองที่ไหลมาจากอุทยานแห่งชาติภูกระดึง และลำน้ำเชิญในจังหวัดขอนแก่น สภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายและดินลูกรังอยู่ปะปนกับหินชนิดต่างๆ

ลักษณะภูมิอากาศ :

ลักษณะอากาศโดยทั่วไป อากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 39 องศาเซลเซียส

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า :

สภาพป่าประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้สำคัญ ได้แก่ ประดู่ มะค่าโมง ตะแบก เหียง พลวง แดง เต็ง รัง พันธุ์ไม้พื้นล่างที่ขึ้นอยู่หนาแน่น ได้แก่ หว่าน ไพร ชัน ข่าป่า เพ็ก หวาย กล้วยไม้ป่า หญ้าคา แฝก ฯลฯ

สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา หมูป่า เก้ง ลิง กระต่ายป่า นิ่มหรือลิ่น เม่น ตะกวด ไก่ป่า นกชนิดต่าง ๆ และแมลงกว่า 200 ชนิด

จุดเด่นที่น่าสนใจ :

ถ้ำผาพวง
เดิมเรียก “ถ้ำร้อยพวง” ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงาม เพดานถ้ำสามารถทะลุออกไปยอดเขาใช้เป็นจุดชมวิวได้เป็นอย่างดี เหมาะ แก่การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ

ถ้ำพญานาคราช
เป็นถ้ำที่มีความสวยงามเป็นอันดับ 1 ของอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ภายในถ้ำมืดสนิท แบ่งออกเป็นห้อง ๆ แต่ละห้องประกอบด้วย หินงอกหินย้อยที่ส่องประกายแวววาวระยิบระยับ สวยงามตระการตา รถยนต์สามารถเข้าถึงเชิงเขาที่เป็นตัวถ้ำได้

ถ้ำลายแทง
บนผนังภายในถ้ำจะพบภาพเขียนสีโบราณกว้างประมาณ 2 ตารางเมตร ซึ่งในอดีตชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นลายแทงบอกขุมสมบัติ ลักษณะเป็นภาพเขียนสีแดงรูปคน และสัตว์ในลักษณะต่าง ๆ ประมาณ 70 ภาพ อายุของภาพอยู่ในระหว่างการตรวจสอบอยู่

ถ้ำภูตาหลอ
ภายในถ้ำเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ จุคนได้ถึง 1,000 คน พื้นถ้ำราบเรียบกว้างเพดานสูง มีหินงอกหินย้อยเป็นพวง ๆ สวยงามตระการตา ปัจจุบันกำลังปรับปรุงเส้นทางเข้าถึง ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ

น้ำตกตาดฮ้อง
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เกิดจากลำน้ำพองที่มีต้นกำเนิดอยู่ บนภูกระดึง มีความสูงประมาณ 60 - 70 เมตร อยู่ระหว่างเขตรอยต่อของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงและอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ในยามที่สายน้ำตกกระทบแผ่นหิน จะเกิดเสียงดังก้องทั่วป่า จนเป็นที่มาของชื่อ “ตาดฮ้อง” เส้นทางเข้าถึงค่อนข้างลำบาก จึงทำให้ยังเป็นน้ำตกที่ค่อนข้างบริสุทธิ์อยู่

น้ำตกตาดฟ้า
เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 20 -30 เมตร มีชั้นน้ำตกลดหลั่นลงไป ตลอดสายก่อนไหลลงสู่ลำน้ำเชิญ ในฤดูฝนน้ำจะไหลแรงและมีความ สวยงามมาก ห่างออกไปประมาณ 7 - 8 กิโลเมตร จะพบน้ำตกห้วยหม้อแตก น้ำตกห้วยหินลาด

น้ำตกพลาญทอง
เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงามในฤดูน้ำหลาก สูงประมาณ 10 เมตร ห่างจากที่ทำการของอุทยาน 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำที่เป็นน้ำซับ หลาย ๆสาย ไหลมารวมกันแล้วไหลลงสู่หน้าผาเป็นชั้นเล็กชั้นน้อย ลดหลั่นกันลงไป

น้ำตกตาดใหญ่
เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยน้ำตกชั้นเล็กชั้นน้อย ที่ไหลลดหลั่นกันลงไปเป็นขั้นบันไดหลายชั้น ก่อนจะไหลลงสู่ลำน้ำเชิญ มีความสูง 80 เมตร เป็นน้ำตกที่มีความอลังกาและสวยงามมาก โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลาก รถยนต์สามารถเข้าถึงตัวน้ำตกได้



อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

ข้อมูลทั่วไป :

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 ครอบคลุมพื้นที่ 201,250 ไร่ โดยมีที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ เชิงเขาภูพานคำ เขตอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู

การเดินทาง :

สามารถเดินทางไปได้ 2 ทาง คือ

เส้นทางที่ 1 ตามเส้นทางสายขอนแก่น-เขื่อนอุบลรัตน์ จากตัวเมืองขอนแก่นถึงตลาดอำเภออุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ต่อด้วยรถยนต์โดยสารประจำทางสายเขื่อนอุบลรัตน์-โนนสัง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

เส้นทางที่ 2 จากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข 2146 สายหนองบัวลำภู-โนนสัง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านโสกจาน จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางสายบ้านโสกจาน-เขื่อนอุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

สิ่งอำนวยความสะดวก :

ติดต่อขออนุญาตพักแรมได้ ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734

จุดเด่นที่น่าสนใจ :

ภูเก้า
ประกอบด้วยภูเขา 9 ลูก คือ ภูฝาง ภูขุมปูน ภูหัน ภูเมย ภูค้อหม้อ ภูชั้น ภูเพราะ ภูลวก และภูวัด ภูทั้ง 9 ลูกนี้มีความสลับซับซ้อน มาก มีป่าไม้และสัตว์ป่านานาชนิด มีถ้ำ น้ำตก ลานหินลาดมากมาย มีหินลักษณะแปลกๆ คล้ายปราสาท ถ้ำพลาไฮมีภาพเขียนรูปฝ่ามือและภาพแกะสลักของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีศาลาบนยอดหินที่เรียกว่า หอสวรรค์ ไว้ชมวิว นอกนี้ยังมีวัดพระพุทธบาทภูเก้าซึ่งมีรอยเท้าคนและสุนัขขนาดใหญ่สลักบนหิน อันเกี่ยวโยงกับนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระสุพรหมวิโมขา กับหมาเก้าหาง” ภายในวัดพระพุทธบาทภูเก้ายังมีถ้ำมึ้ม และถ้ำอาจารย์สิม ซึ่งภายในถ้ำมีภาพเขียนสีและภาพสลักตามผนังถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ภูพานคำ
เป็นเทือกเขาทอดยาวจากเหนือสู่ใต้ จากอำเภอเมืองหนองบัวลำภู จนถึงเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเทือกเขาที่แบ่งเขตจังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดขอนแก่น ภูพานคำเป็นทิวเขาด้านตะวันออกของลุ่มน้ำพอง และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ตอนบนมีทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งนักท่องเที่ยวมักจะพักแรมที่บริเวณทะเลสาบท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ภูพานคำนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และเป็นแหล่งตกปลาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดด้วย



เขื่อนอุบลรัตน์

ข้อมูลทั่วไป :

ขอนแก่น นอกจากจะเป็นดินแดนแห่งศิลปะ การทอผ้าไหมพื้นเมือง "ซิ่น มัดหมี่" ที่งดงามลือชื่อแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยว ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และแหล่งท่องเที่ยว ตามธรรมชาติ ที่น่าสนใจ หลายแห่ง รวมทั้ง เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นเขื่อนพลังน้ำ แห่งแรกของแผ่นดินที่ราบสูงแห่งนี้

เขื่อนอุบลรัตน์ เปรียบประดุจประทีปดวงแรกที่จุดความสว่างไสว ให้กับพื้นแผ่นดินที่ราบสูง แห่งนี้ ให้ก้าวไปสู่ทิศทาง ของการพัฒนา ที่เจริญทัดเทียม กับภาคอื่นๆ ของประเทศ และนอกเหนือจาก ประโยชน์ นานัปการแล้ว ความสวยงาม ของเขื่อนอุบลรัตน์ และทะเลสาบกว้างใหญ่ ที่โอบล้อมด้วยขุนเขา เป็นเสน่ห์ดึงดูด นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ให้แวะเวียนมาเยี่ยมชม อย่างไม่ขาดสาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง

การเดินทาง :

การเดินทางไปชมเขื่อนไปได้ตามทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-อุดรธานี) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 470-471 ซึ่งห่างจากขอนแก่น 26 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์อีก 24 กิโลเมตร รวมระยะทาง ห่างจากตัวเมือง 50 กิโลเมตร

สิ่งอำนวยความสะดวก :

เมื่อเดินทางถึงเขื่อนอุบลรัตน์ ท่านสามารถจะติดต่อสอบถามรายละเอียด เกี่ยวกับการเยี่ยมชมเขื่อน และสถานที่ต่างๆ ได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ณ อาคารที่ทำการ เขื่อนอุบลรัตน์ โทร. (๐๔๓) ๒๒๔๑๓๑ ต่อ ๒๖๖

หากประสงค์จะพักแรม ติดต่อได้ที่ หน่วยที่ทำการบ้านรับรอง เขื่อนอุบลรัตน์ โทร.(๐๔๓) ๒๒๔๑๓๑ ต่อ ๒๖๗ หรือติดต่อสำรองที่พัก ล่วงหน้าได้ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย โทร. ๔๓๖-๓๑๗๙

ลักษณะเขื่อน :

เขื่อนอุบลรัตน์ หรือ ชาวเมืองเรียกกันว่า "เขื่อนพองหนีบ" สร้างปิดกั้นแม่น้ำพอง ที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรก ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สร้างขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นแห่งที่สองของประเทศไทย ที่ก่อสร้างเสร็จหลังเขื่อนภูมิพล

ตัวเขื่อน
เป็นเขื่อนหินถมแกนกลางเป็นดินเหนียว มีความยาว ๘๐๐ เมตร สูงจากพื้นท้องน้ำ ๓๒ เมตร ระดับสันเขื่อนอยู่ที่ ๑๘๕ เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง -รทก.) สันเขื่อนกว้าง ๖ เมตร ฐานเขื่อนกว้าง ๑๒๐ เมตร และที่ระดับเก็บกักปกติสูงสุด ๑๘๒ เมตร (รทก.) อ่างเก็บน้ำมีความจุทั้งหมด ๒,๕๕๙ ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละประมาณ ๑,๗๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ทางปีกขวาของตัวเขื่อนเป็นอาคารระบายน้ำล้น มีช่องระบายน้ำ ๔ ช่อง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถระบายน้ำสูงสุดได้ วินาทีละ ๒,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร

สำหรับอาคารโรงไฟฟ้า ตั้งอยู่ทางปีกซ้าย ของตัวเขื่อน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต ๘,๔๐๐ กิโลวัตต์ จำนวน ๓ เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น ๒๕,๒๐๐ กิโลวัตต์

เขื่อนอุบลรัตน์ เริ่มงานก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๐๗ และสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๐๙

ต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ทำการปรับปรุงเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเสริมสันเขื่อนให้สูงขึ้นไปอีก ๓.๑๐ เมตร จากระดับเดิม ๑๘๕ เมตร (รทก.) เป็นที่ระดับ ๑๘๘.๑๐ เมตร (รทก.) ความกว้างสันเขื่อนเท่าเดิม ส่วนฐานเขื่อนด้านท้าย ขยายออกจากเดิม ซึ่งกว้าง ๑๒๐ เมตร เป็น ๑๒๕ เมตร ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๗ และปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยเมื่อต้นปี ๒๕๓๐

ประโยชน์หลังจากการปรับปรุง เขื่อนอุบลรัตน์ จะทำให้เขื่อนมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอุทกภัยสูงขึ้น และยังเสริมความปลอดภัย ให้แก่ตัวเขื่อน ซึ่งจากการยกระดับ ของสันเขื่อน จะไม่มีผล ต่อระดับเก็บกักน้ำ ใช้เพื่อการชลประทาน และผลิตกระแสไฟฟ้าในระดับปกติ ทั้งยังไม่มีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัย บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำอีกด้วย

ประโยชน์ :

เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ ต่อประชาชน ในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านผลิตไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ ๖๕ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ด้านชลประทาน และการเกษตร น้ำที่ปล่อยผ่านการผลิตไฟฟ้าแล้ว จะส่งเข้าสู่ระบบ ชลประทาน ให้ประโยชน์ แก่พื้นที่เกษตรกรรม ที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งสามารถจะเพาะปลูกได้ถึงปีละ ๒ ครั้ง อีกทั้งยัง ปลูกพืชในฤดูแล้งได้ด้วย

ด้านการประมง อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ปัจจุบันเป็นแหล่งประมงขนาดใหญ่ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ทำรายได้ให้แก่ประชาชนในภูมิภาค นี้ในปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ของประชาชน ให้สูงขึ้น

ด้านการบรรเทาอุทกภัย ตามปกติก่อนการสร้างเขื่อนน้ำ มักจะท่วมอย่างกะทันหันในฤดูฝน บริเวณแนวฝั่งลำน้ำพอง จนถึงแม่น้ำชี ทำความเสียหายให้แก่เรือกสวนไร่นา ของประชาชนมาก แต่ภายหลังก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์แล้ว ได้ช่วยบรรเทาภาวะน้ำท่วม ให้ลดน้อยลง

ด้านคมนาคม เขื่อนอุบลรัตน์ ยังเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ซึ่งประชาชนใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่กัน อย่างสะดวก และช่วยย่นระยะทาง ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ทั่วไป

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง :

ก่อนเดินทางเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ ท่านสามารถจะแวะชม สถานที่ท่องเที่ยวตามรายทางที่น่าสนใจ ซึ่งมีทั้งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ หลายแห่ง อาทิ พระธาตุขามแก่น วัดพระบาทภูพานคำ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น บึงแก่นนคร อุทยานแห่งชาตภูเก้า - ภูพานคำ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลาดท่าปลาเขื่อนอุบลรัตน์ และอำเภอชนบท ซึ่งมีการทอไหมพื้นเมือง "ซิ่น มัดหมี่" ที่มีชื่อเสียงมาก

พระธาตุขามแก่น
เป็นโบราณสถานเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดขอนแก่น ลักษณะเป็นเจดีย์ ที่สร้างครอบแก่นมะขาม ที่ตายแล้ว แต่กลับแตกกิ่งก้าน ขึ้นมาใหม่ ประมาณว่า สร้างขึ้นพร้อมกับ พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ จะมีงานฉลองทุกปี (ปัจจุบันนี้ จังหวัดขอนแก่น ได้อัญเชิญ พระธาตุขามแก่น มาเป็นตราสัญลักษณ์ขอจังหวัด)

วัดพระบาทภูพานคำ
ตั้งอยู่บนไหล่เขาภูพานคำ ติดกับเขื่อนอุบลรัตน์ มีพระพุทธรูป (หลวงพ่อพระใหญ่) สูงประมาณ ๑๔ เมตร ซึ่งประดิษฐาน อยู่บนยอดเขา "ภูพานคำ" มีบันไดนาคขึ้นไปหาองค์พระสูง ๑,๐๔๙ ขั้น นับว่าเป็นปูชนียสถาน - ปูชนียวัตถุ ที่สวยงาม ผู้ที่มาเที่ยว เขื่อนอุบลรัตน์ มักจะแวะนมัสการ เพื่อเป็นสิริมงคล

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น
เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งรวมโบราณวัตถุ ล้ำค่า ที่ขุดได้จาก หน่วยศิลปกรที่ ๗ นำมาตั้งแสดงให้ชม เช่น โบราณวัตถุที่บ้านเชียง ใบเสมา จำหลัก จากเมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น

บึงแก่นนคร
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ย่านชุมชน ในเมือง ทำให้เกิดความสง่างาม ประดับตัวเมือง และเป็นแหล่งสนับสนุนกิจการ ท่องเที่ยว ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ
เป็นสถานที่ เพิ่งได้รับการสถาปนา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ห่างจากเขื่อนอุบลรัตน์เพียง ๕ กิโลเมตร บรรยากาศ ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ มีทั้งชายเขาสูงชัน และเรียบริมฝั่ง อ่างเก็บน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ เหมาะสำหรับ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เป็นมหาวิทยาลัย ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในพื้นที่อันกว้างขวาง กว่า ๕,๐๐๐ ไร่ อยู่ห่างจาก ตัวเมืองขอนแก่น ๔ กิโลเมตร

ตลาดท่าปลาเขื่อนอุบลรัตน์
จากสันเขื่อนเรียบไปตามไหล่เขา ภูพานคำ ทางปีกขวา ของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ ประมาณ ๕ กิโลเมตร ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. จะมีชาวประมงจับปลา จากอ่างเก็บน้ำ แล่นเรือเข้าเที่ยวฝั่ง เพื่อนำปลามาจำหน่าย

อำเภอชนบท
แยกจากทางหลวงหมายเลข ๒ ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๓๙๙ ตรงข้ามกับอำเภอบ้านไผ่ เข้าไปอีก ๑๑ กิโลเมตร มีการทอผ้าไหมพื้นเมือง "ซิ่น มัดหมี่" ผ้าไหมอำเภอชนบท มีชื่อเสียงมาก นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่าน มักจะแวะเข้าไปชม และซื้อกันอยู่เสมอ


สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอเมือง

ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์หลักเมือง
ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาสุขใจ ถนนเทพารักษ์หน้าเทศบาลขอนแก่น ท่านเจ้าคุณปู่พระราชสารธรรมมุนีและหลวงธุรนัยพินิจ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ริเริ่มสร้างโดยนำหลักศิลาจารึกมาจากโบราณสถานในท้องที่อำเภอชุมแพ มาประกอบพิธีตามแนวทางพระพุทธศาสนา ทำเป็นหลักเมือง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2499 ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวขอนแก่น ทุกวันจะมีประชาชนมาไหว้บูชากันตลอดเวลา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น
เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่ถนนหลังศูนย์ราชการ โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่ได้มาจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีภายในเขตศิลปากรที่ 7 อีกส่วนหนึ่ง เป็นศิลปวัตถุสมัยต่างๆ ที่แบ่งมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

พิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ระดับชั้น ชั้นล่างด้านหนึ่งเน้นเรื่องราวของอู่อารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ ที่บ้านเชียง โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะดินเผา อีกด้านหนึ่งจัดแสดงใบเสมาหินจำหลักเรื่องพุทธประวัติและภาพปูนปั้นศิลป ทวาราวดี จากเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์

ส่วนชั้นที่สองอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นส่วนของศิลปวัตถุสมัยขอมหรือลพบุรีที่ได้ในภาคอีสาน เช่น พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผาและศิลปวัตถุอื่นรวมทั้งทับหลัง หินทรายจากปราสาทหินในภาคอีสาน และอีกด้านหนึ่งของชั้นบนเป็นศิลปวัตถุยุคสมัยต่างๆ ของภาคกลาง เช่น อยุธยา สุโขทัย เป็นต้น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชมชาวไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ โทร. (043) 246170

บึงแก่นนคร
มีลักษณะเป็นบึงขนาดใหญ่ ในเนื้อที่ 603 ไร่ ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีถนนเลียบริมน้ำโดยรอบ ได้มีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณรอบบึงให้เป็นสวนสุขภาพ ภายในสวนบริเวณรอบๆ มีภาพประติมากรรมรูปต่างๆ ทางเทศบาลได้ทำการปลูกต้นคูนและไม้ดัดไว้อีกมากมาย ทำให้ดูร่มรื่นสวยงาม นอกจากนี้ยังมีสนามเด็กเล่นและร้านอาหารบริการผู้มาพักผ่อน

ทางทิศเหนือ ของบึงแก่นนครเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ “เจ้าเพียเมืองแพน” ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่น

มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ตั้งอยู่เนินสูงที่มีชื่อว่า “มอดินแดง” ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง มีพื้นที่ประมาณกว่า 5,000 ไร่ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทรงกระทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2510 มหาวิทยาลัยอยู่ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร มีทางเข้าสองทางคือ ด้านถนนมิตรภาพ (สายขอนแก่น-อุดรธานี) และด้านถนนประชาสโมสร (สายขอนแก่น-เลย) เป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทของภาคอีสาน นอกจากนี้ยังมีบึงสีฐานเป็นแหล่งพักผ่อนและเป็นที่อยู่อาศัยของนกเป็ดน้ำใน ช่วงฤดูหนาว

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอน้ำพอง

พระธาตุขามแก่น
ตั้งอยู่ในวัดเจติยภูมิ ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 209 (ขอนแก่น-กาฬสินธุ์) ประมาณกิโลเมตรที่ 12-13 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวเมืองขอนแก่นประมาณ 30 เมตร ตามประวัติโดยย่อกล่าวว่าโมริยกษัตริย์ เจ้าเมืองโมรีย์ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา มีความประสงค์ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ไว้เมื่อครั้งพระ พุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ มาบรรจุพระธาตุพนม จึงโปรดให้พระอรหันต์และพระเถระเจ้าคณะรวม 9 องค์ นำขบวนอัญเชิญพระอังคารมาในครั้งนี้ เมื่อผ่านมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น เนื่องจากเป็นเวลาพลบค่ำแล้วและบริเวณนี้ภูมิประเทศราบเรียบดีจึงหยุดคณะพัก ชั่วคราว รุ่งเช้าจึงเดินทางต่อ ไปถึงภูกำพร้าปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับและตั้งใจว่าจะนำพระอังคารธาตุกลับไปประดิษฐานไว้ที่บ้าน เมืองของตน แต่เมื่อเดินทางผ่านดอนมะขามอีกครั้งปรากฏว่า แก่นมะขามที่ตายแล้วนั้นกลับยืนต้นแตกกิ่งก้านผลิใบเขียวชอุ่มเป็นที่น่า อัศจรรย์ คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์ครอบต้นมะขามนี้ พร้อมกับนำพระอังคารธาตุและพระพุทธรูปบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ และให้นามว่าพระธาตุขามแก่นมาจนทุกวันนี้ พระธาตุขามแก่นถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จะมีงานฉลองและนมัสการพระธาตุเป็นประจำ

กู่ประภาชัย หรือ กู่บ้านนาคำน้อย
ตั้งอยู่ที่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อยู่บนเส้นทางเดียวกับพระธาตุขามแก่น ตรงต่อไปก่อนถึงสะพานข้ามคลองส่งน้ำจากลำน้ำพอง เลี้ยวซ้ายตามถนนลูกรัง แล้วเลี้ยวขวาข้ามสะพานเข้าหมู่บ้านนาคำน้อยอีก 500 เมตร ถึงวัดกู่ประภาชัย

กู่ประภาชัย หรือกู่บ้านนาคำน้อย
คือกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะแผนผังเป็นอโรคยาศาล สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมร ราวพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1720-1780) ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยื่นทางด้านหน้า ด้านขวามือเยื้องไปข้างหน้าเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า บรรณาลัย อาคารทั้งสองล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วโดยมีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าออกด้าน หน้าหรือทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงที่มุมซ้ายมีสระน้ำ ทั้งหมดสร้างด้วยศิลาแลง โดยมีเสาประดับประตู ทับหลังเป็นหินทราย

กู่ประภาชัย หรือกู่บ้านนาคำน้อย
ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอมัญจาคีรี

วัดอุดมคงคาคีรีเขต
ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านโคก อำเภอมัญจาคีรีเป็นวัดป่าของหลวงปู่ผาง ซึ่งเคยเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว แต่มีอนุสรณ์สถานที่บรรจุอัฐิของหลวงปู่ผางอยู่ในบริเวณวัด นอกจากนั้นที่วัดยังมีเจดีย์และพระอุโบสถที่สวยงามและบริเวณรอบๆ ที่ตั้งของวัดซึ่งตั้งอยู่เชิงเขา มีต้นไม้ป่าขึ้นอยู่ร่มรื่น เป็นสถานที่ที่เน้นการปฏิบัติวิปัสสนา การเดินทางนั้นจากขอนแก่นไปตามเส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) ประมาณ 14 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าเส้นทางสายบ้านทุ่ม-มัญจาคีรี (ทางหลวงหมายเลข 2062) อีกประมาณ 44 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าเส้นทางสายมัญจาคีรี-ชัยภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 229) ประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าวัดอีก 12 กิโลเมตร

หมู่บ้านเต่า
จากขอนแก่นไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2062 (ขอนแก่น-มัญจาคีรี) ประมาณ 54 กิโลเมตร (ก่อนถึงอำเภอมัญจาคีรี 2 กิโลเมตร) ถึงบริเวณบ้านกอก ปากทางเข้าหมู่บ้านเต่าด้านซ้ายจะสังเกตเห็นเป็นรูปเต่าจำลอง 2 ตัว วางอยู่บนแท่นหินสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5-2 เมตร ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดศรีสุมัง จากนั้น เลี้ยวซ้ายใช้เส้นทางลูกรังข้างวัดเข้าสู่เขตหมู่บ้านกอก ประมาณ 100 เมตร ก็จะถึงหมู่บ้านเต่า ซึ่งจะมีเต่าบกชนิดหนึ่ง (ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า เต่าเพ็ก) ลักษณะกระดองจะมีสีเหลืองแก่ปนน้ำตาลเดินอยู่เป็นจำนวนมาก บ้างก็จะอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านเพื่อรออาหารจากชาวบ้าน บ้างก็เดินอยู่ตามถนนภายในหมู่บ้าน ซึ่งจะหาดูได้ไม่ยากเมื่อเดินทางไปถึง

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภออุบลรัตน์

เขื่อนอุบลรัตน์

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอชุมแพ

เมืองโบราณสมัยทวาราวดีที่อำเภอชุมแพ
เป็นการพบร่องรอยทางโบราณคดี ยุคสมัยศิลปะทวาราวดี ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น

เมืองโบราณสมัยทวาราวดีแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ เรียกว่า โนนเมือง เขตบ้านนาโพธิ์ อำเภอชุมแพ ห่างจากจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 80 กิโลเมตร เดิมทีชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาว่าบริเวณเนินดินกว้างที่เรียกว่าโนนเมืองนั้น เป็นเมืองเก่าเมืองโบราณ

ลักษณะของเนินเป็นเนินดินรูปไข่ พื้นที่ประมาณ 170 ไร่ มีคูเมือง 2 ชั้น ระยะห่างกันประมาณ 200 เมตร จากการสำรวจของหน่วยศิลปากรที่ 7 พบใบเสมาหินทรายศิลปะทวาราวดี 3 ชิ้น ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน และพบเศษภาชนะดินเผาชิ้นไม่ใหญ่นักกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบนเนินดิน เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มีทั้งชนิดเขียนสีแดง ชนิดลายขูดขีดและลายเชือกทาบ

นอกจากนี้ยังค้นพบ โครงกระดูกมนุษย์ที่มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ มีธรรมเนียมการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมศพด้วย เช่น หม้อและภาชนะดินเผาเขียนสีและลายขูดขีด ลายเชือกทาบ กำไลสำริด กำไลกระดูกสัตว์ เปลือกหอย ลูกปัดหินสี ฯลฯ

การเดินทาง ใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) ผ่านตัวอำเภอชุมแพ ถึงที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 5 กิโลเมตร

วนอุทยานถ้ำผาพวง
อยู่ในเขตบ้านดงลาน ตำบลผานกเค้า อำเภอชุมแพ ห่างจากตัวเมืองตามเส้นทางสายขอนแก่น-ชุมแพ 123 กิโลเมตร (ทางหลวงหมายเลข 12 และ 201 มีทางแยกขวามือเข้าสู่วนอุทยานถ้ำผาพวงอีก 4 กิโลเมตร เป็นทางลูกรัง ถ้ำผาพวงเป็นถ้ำใหญ่ที่งดงาม น่าเที่ยว เมื่อไปจอดรถที่เชิงเขาต้องเดินอ้อมเชิงเขาไปอีกด้านหนึ่ง เพราะปากทางเข้าสู่ถ้ำผาพวงนั้นอยู่ทางด้านเหนือจากเชิงเขา มีทางไต่ขึ้นไปชมถ้ำเป็นเนินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วลาดต่ำลง เมื่อถึงปากถ้ำจะเห็นทัศนียภาพที่เป็นป่าเขาอยู่ลิบๆ

ถ้ำผาพวงเป็นถ้ำหินปูน ที่เพดานถ้ำมีลวดลายธรรมชาติของหินงอกหินย้อยสวยงามมาก ที่เพดานถ้ำทางด้านในจะมีปล่องใหญ่ ถ้าเดินลึกเข้าไปอีกจะมีทางวกลงสู่ที่ต่ำ แล้วจะมาโผล่ทางกลางถ้ำได้อีก ประกาศเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2517 มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 3,125 ไร่ การเดินทางไปชมวนอุทยานถ้ำผาพวง ควรเตรียมตัวสำหรับการปีนเขา อาหารห่อ น้ำดื่มไปด้วย เพราะบริเวณวนอุทยานไม่มีร้านอาหาร

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอภูเวียง

อุทยานแห่งชาติภูเวียง

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอภูผาม่าน

อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน

ผานกเค้า
เป็นภูเขาสูงตั้งตระหง่านอยู่ริมลำน้ำพอง ในเขตท้องที่อำเภอภูผาม่านหันหน้าชนกับภูกระดึง จังหวัดเลย ผานกเค้าอยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 125 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายขอนแก่น-วังสะพุง (หมายเลข 2 และ 201) ผานกเค้าอยู่ทางด้านซ้ายมือของบ้านดงลาน ลักษณะของผานกเค้าเป็นภูเขาหินสีดำ บางส่วนกระเทาะออกเห็นเนื้อหินสีส้ม มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย บริเวณที่จะมองเห็นเค้าโครงของนกเค้าได้ชัดเจนควรเดินเข้าไปในศูนย์เพาะชำ กล้วยไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้ ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากถนน จะเห็นว่าลักษณะผาเหนือจงอยปากขึ้นไปมีลักษณะเป็นหงอน ถัดลงมาเป็นหินกลมโค้งต่ำจากส่วนหงอนลงมาเป็นส่วนหัว ตรงกลางหัวมีรอยหินกระเทาะเป็นสีส้มอยู่ในตำแหน่งดวงตา ต่ำลงมาจากส่วนหัวจะถึงแนวปีกทั้งสองข้างที่กางออก

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอชนบท

ผ้าไหมมัดหมี่ที่ชนบท
ผ้าไหมมัดหมี่เป็นเอกลักษณ์อย่างงหนึ่งของอีสานที่มีวิธีการสร้างลายผ้าไหม ด้วยวิธีโบราณสืบต่อกันมานาน โดยนำเส้นไหมมามัดแล้วย้อมสีต่าางๆ ตามที่กำหนด และเมื่อนำเส้นไหมที่ย้อมสีแล้วไปทอก็จะได้ผ้าไหมที่มีลวดลายสีสันสวยงาม กรรมวิธีมัดและย้อมเส้นไหมนี้ชาวอีสานเรียกว่า “มัดหมี่” อำเภอชนบทเป็นอำเภอที่ทอผ้าไหมมัดหมี่เป็นอุตสาหกรรมหลัก เป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวจะผ่านไปเสียมิไได้ มักจะแวะชมกรรมวิธีการผลิต ตั้งแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจนถึงนำรังไหมมาต้มเพื่อสาวเส้นไหมเล็กๆ สีทองออกมา มัดหมี่ย้อมลวดลายจนกระทั่งทอเป็นผืนผ้าสำเร็จ อำเภอชนบทห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 54 กิโลเมตร ไปตามถนนมิตรภาพขอนแก่น-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 2) ย้อนจากขอนแก่นลงทิศใต้ถึงอำเภอบ้านไผ่แล้วแยกขวาไปตามถนนสายบ้านไผ่-ชนบท อีกประมาณ 10 กิโลเมตร

ศาลาไทย
ตั้งอยู่ ณ บริเวณวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ (12 สิงหาคม 2535) เพื่อเป็นศูนย์สืบสานพระราชปณิธานงานศิลปาชีพด้านผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมของ ภาคอีสาน รวมทั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน โดยทรงพระราชทานนามอาคารพิพิธภัณฑ์ศาลาไทยว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี” ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าไหมมัดหมี่ของโครงการและลายผ้าไหม มัดหมี่ พร้อมผ้าไหมมัดหมี่ที่ชนะการประกวดต่างๆ อีกทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าไหมมัดหมี่โบราณ อุปกรณ์ เครื่องใช้เกี่ยวกับไหมและของเก่าแก่ควรอนุรักษ์

การเดินทางจากขอนแก่น ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-โคราช) 44 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่สี่แยกบ้านไผ่ไปอีก 11 กิโลเมตร ศาลาไหมไทยอยู่ทางซ้ายมือ (ตรงข้ามกับหนองกองแก้ว หนองน้ำงดงามของอำเภอชนบท)

ศาลาไหมไทย
เปิดให้นักท่องเที่ยวชมทุกวัน ในเวลาราชการและการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อโดยตรงที่วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น 40180 โทร. (043) 286160, 286218 โทรสาร (043) 286031

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอเปือยน้อย

กู่เปือยน้อยหรือพระธาตุกู่ทอง
เป็นปราสาทหินศิลปะขอมหรือลพบุรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงในแถบภาคอีสานตอนบน ตั้งอยู่ที่อำเภอเปือยน้อย ระยะทาง 79 กิโลเมตร จากจังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านเรียกว่า “ธาตุกู่ทอง” องค์ปรางค์ปราสาทหันหน้าสู่ทิศตะวันออก สร้างด้วยหินทรายจำหลักลวดลายสวยงาม กำแพงขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบเป็นเขตปราสาทสร้างด้วยศิลาแลง ส่วนหนึ่งขององค์ปรางค์พังทลายลงมาบ้างและอยู่ระหว่างการบูรณะ

การเดินทางจากขอนแก่นจะใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 ขอนแก่น-บ้านไผ่ ระยะทาง 44 กิโลเมตร เข้าเส้นทางสายบ้านไผ่-บรบือ (ทางหลวงหมายเลข 23) ไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าสู่อำเภอเปือยน้อยอีก 24 กิโลเมตร


หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ : ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155, 0 4322 6195-6
ที่ว่าการอำเภอเมือง โทร. 0 4323 6115
เทศบาลนครขอนแก่น โทร. 0 4322 1185, 0 4322 4032
ประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น โทร. 0 4323 3015, 0 4324 6853, 0 4324 6649
สถานกงสุลลาว โทร. 0 4324 2856-8
สถานกงสุลเวียดนาม โทร. 0 4324 2190
สถานีตำรวจภูธร โทร. 191, 0 4322 1162
ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โทร. 0 4323 6882, 0 4323 9381
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โทร. 0 4324 2331-44
โรงพยาบาลขอนแก่น โทร. 0 4323 6005-6


0 ความคิดเห็น: