00:29

จังหวัดสกลนคร

พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง
งามลือเลื่องหนองหาน แลตระการปราสาทผึ้ง
สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม

http://www.watnaweng.com/UserFiles/Image/news_pic/temple-phrathat.jpg
พระธาตุเชิงชุม

สกลนคร เป็นเมืองพุทธศาสน์ พระธาตุห้าแห่ง แหล่งอารยธรรมสามพันปี ตามตำนานเล่าว่า เมืองหนองหานหลวงในอดีต หรือสกลนครในปัจจุบันนั้น สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 16 ในยุคที่ขอมมีอำนาจในดินแดนนี้ ต่อมาเมื่ออิทธิพลขอมเสื่อมลง เมืองหนองหานหลวงตกไปอยู่ในความปกครองของอาณาจักรล้านช้าง เรียกชื่อเมืองว่า “เมืองเชียงใหม่หนองหาน” และเมื่อมาอยู่ในความปกครองของไทย ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองสกลทวาปี” ต่อมา ในปี พ.ศ. 2373 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เปลี่ยนชื่อจากเมืองสกลทวาปี เป็น “เมืองสกลนคร” ในปัจจุบัน

จังหวัดสกลนคร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 647 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 9,605 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอกุดบาก อำเภอพรรณานิคม อำเภอวาริชภูมิ อำเภอส่องดาว อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส อำเภออากาศอำนวย อำเภอบ้านม่วง อำเภอพังโคน อำเภอคำตากล้า อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอเต่างอย อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอโพนนาแก้ว และอำเภอภูพาน

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครพนม
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมุกดาหาร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนครพนม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดกาฬสินธุ์

การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ถึงจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา แล้วเลี้ยวแยกเข้าทางไปอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ ทางหลวงหมายเลข 213 เข้าสู่จังหวัดสกลนคร
รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด และ บริษัทเอกชน มีรถประจำทางไปจังหวัดสกลนครทุกวัน ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 936–0657, 936-1880, 936-2852-66
รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปลงที่จังหวัดอุดรธานีทุกวัน แล้วเดินทางต่อไปโดยรถประจำทางไปจังหวัดสกลนครอีกประมาณ 159 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. 1690, 223-7010, 223–7020
เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดสกลนครทุกวัน ติดต่อสอบถามรายละเอียด และสำรองที่นั่งได้ที่โทร. 1566, 280-0060, 628-2000 สำนักงาน การบินไทยจังหวัดสกลนคร ถนนยุวพัฒนา โทร. (042) 712259-60
นอกจากนั้นการคมนาคมภายในตัวจังหวัดสกลนครมีรถเมล์เล็ก รถสามล้อถีบ และรถสามล้อเครื่องรับจ้างวิ่งบริการในตัวเมือง ตกลงค่าโดยสารก่อนเดินทางนะครับ

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่าง ๆ
โคกศรีสุพรรณ 22 กิโลเมตร
เต่างอย 28 กิโลเมตร
ภูพาน 33 กิโลเมตร
โพนนาแก้ว 35 กิโลเมตร
พรรณานิคม 39 กิโลเมตร
กุสุมาลย์ 40 กิโลเมตร
พังโคน 54 กิโลเมตร
กุดบาด 69 กิโลเมตร
อากาศอำนวย 57 กิโลเมตร
วาริชภูมิ 69 กิโลเมตร
สว่างแดนดิน 84 กิโลเมตร
วานรนิวาส 85 กิโลเมตร
เจริญศิลป์ 90 กิโลเมตร
นิคมน้ำอูน 99 กิโลเมตร
คำตากล้า 109 กิโลเมตร
ส่องดาว 109 กิโลเมตร
บ้านม่วง 120 กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดสกลนครไปยังจังหวัดใกล้เคียง
นครพนม 93 กิโลเมตร
มุกดาหาร 119 กิโลเมตร
กาฬสินธุ์ 128 กิโลเมตร
อุดรธานี 159 กิโลเมตร


แผนที่จังหวัดสกลนคร

แผนที่ตัวเมืองสกลนคร


ข้อมูลท่องเที่ยว อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

อำเภอเมือง
พระธาตุเชิงชุม ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ปลายถนนเจริญเมือง ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 24 เมตร ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุเชิงชุมทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก 247 บาท มีซุ้มประตู 4 ด้าน ข้างในทึบ สร้างครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ซึ่งหมายถึง พระกกุสันธะ พระโกนาคม พระกัสสะปะ และพระโคตมะหรือพระศรีอารียเมตตรัย (คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ชาวพุทธศาสนิกชนเคารพสักการะบูชาอยู่ทุกวันนี้) สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด แต่นับเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาแต่โบราณ ภายในวิหารใกล้พระธาตุเชิงชุม เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสนอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดสกลนคร ทุกวันพระในตอนค่ำจะมีประชาชนไปบูชากราบไหว้พระธาตุ และหลวงพ่อองค์แสนเป็นจำนวนมาก งานประจำปีของพระธาตุเชิงชุมจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ของทุกปี (กำหนดตามจันทรคติ)
หนองหาน เป็น ทะเลสาบน้ำจืด ที่มีชื่อเสียง และกว้างใหญ่มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 123 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งรับน้ำตกของลำห้วยต่าง ๆ หลายสาย และยังเป็นต้นน้ำของลำน้ำก่ำซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม อำนวยประโยชน์ในด้านการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในชุมชนรอบหนองหาน ระดับน้ำในหนองหานลึกประมาณ 3-8 เมตร ในบริเวณหนองหานมีเกาะต่าง ๆ กว่า 20 เกาะ เช่น เกาะดอนสวรรค์ ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด บนเกาะมีวัดร้าง และพระพุทธรูปเก่าแก่ นอกจากนั้นตามเกาะต่าง ๆ เหล่านี้จะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่มากมาย เป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิด บางเกาะได้สร้างศาลาพักร้อน เช่น เกาะแก้ว เกาะดอนสะคาม และเกาะดอนสะทุง ฯลฯ ซึ่งในเวลากลางวันสาหร่ายที่อยู่ใต้พื้นน้ำ เมื่อแดดส่องลงในน้ำจะเห็นสาหร่ายเป็นสีทอง
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ตั้ง อยู่ติดกับหนองหาน บริเวณตำบลธาตุเชิงชุม ในตัวเมืองเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2530 มีลักษณะเป็นสวนล้อมสระน้ำขนาดใหญ่ ชื่อสระพังทอง เป็นสระโบราณ เชื่อกันว่าสร้างมาพร้อมกับการสร้างพระธาตุเชิงชุม ภายในบริเวณสวนประกอบด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับ สวนป่า สวนน้ำ สวนหิน สวนออกกำลังกาย และน้ำพุที่สูงราว 69 เมตร ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาหาความรู้ ด้านพฤกษศาสตร์ได้อีกด้วย สวนแห่งนี้เปิดตั้งแต่เวลา 04.00-21.00 น. นอกจากนั้นยังมี สวนเทิดพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา เมื่อ พ.ศ. 2536 เป็นสวนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ ประมาณ 80 ไร่ อยู่ที่บ้านหนองบัวใหญ่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 22 เส้นทางสายสกลนคร-บ้านธาตุ แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 200 เมตร จะถึงบริเวณสวนซึ่งครอบคลุมพื้นที่ดอนขาม ดอนลังกาภายในบริเวณประกอบด้วยสวน พฤกษชาติ ศาลาพักร้อน น้ำพุ จุดชมวิว ที่อาศัยของนกนานาชนิด และยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสกลนคน
สถานแสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด ตั้งอยู่ในสถานีประมงน้ำจืด ถนนใสสว่าง ภายในจัดแสดง และให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ ที่ค้นพบในภาคอีสาน เช่น ปลาเผือก ปลาหอม ปลาเสือตอ ปลาออสก้าร์ลาย ปลาจันทร์เทศ เป็นต้น ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลาราชการ

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร อยู่ภายในสถาบันราชภัฏสกลนคร ถนนนิตโย ตำบลธาตุนาแวง เป็นที่แสดงสิ่งของ เครื่องใช้ของชนเผ่าต่าง ๆ พร้อมภาพประวัติ และเอกสารแสดงความเป็นมาทางศิลปวัฒนธรรม ติดต่อให้เข้าชม โทร. (042) 711274 เปิดบริการตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
พระธาตุดุม อยู่ที่วัดพระธาตุดุม บ้านธาตุดุม ตำบลงิ้วดอน ถนนสาย รพช. ทางไปโรงเรียนพัฒนาศึกษา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 3 กิโลเมตร มีปรางค์องค์เดียวสร้างด้วยศิลาแลงสมัยเดียวกับพระธาตุนารายณ์เจงเวง แต่องค์ปราสาทเล็กกว่ามีเพียงยอดเดียวไม่มีฐานรองรับ พบทับหลังทั้ง 4 ด้าน ด้านทิศเหนือเป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ นอกจากนี้ยังมีภาพเทวดาทรงพาหนะเหนือหน้ากาลประกอบด้วยสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง สิงห์ และลายใบไม้ม้วน การกำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ศิลปะเขมรแบบบาปวน
พิพิธภัณฑ์อาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตั้ง อยู่ในวัดป่าสุทธาวาส การเดินทาง ไปตามถนนสุขเกษมจนถึงศูนย์ราชการจังหวัดมีทางแยกซ้ายไปอีกประมาณ 250 เมตร ตัวพิพิธภัณฑ์มีลักษณะการก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ประยุกต์ สร้างด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในพิพิธภัณฑ์มีรูปหล่อเหมือนองค์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในท่านั่งสมาธิ และมีตู้กระจกบรรจุอัฐิของท่านที่แปรสภาพเป็นแก้วผลึกใสสีขาว ยกฐานสูงพื้นปูด้วยหินอ่อน พร้อมทั้งตู้แสดงเครื่องอัฐบริขาร รวมทั้งประวัติความเป็นมาของท่านตั้งแต่เกิดจนมรณภาพพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กำเนิดในสกุลแก่นแก้ว ที่ตำบลโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 15 ปี และอุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในปฏิมาธุดงด์กรรมฐานเป็นวัตร มีพระในสายเดียวกับท่านอีกหลายองค์ที่ได้เข้ามาปฏิบัติ และฝึกวิปัสสนากรรมฐานตามแนวของท่าน เช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ขาว อาลนาโย หลวงปู่แหวน สุจินต์โน เป็นต้น ต่อมาท่านได้ย้ายจากการธุดงค์กรรมฐานเข้ามาจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส และมรณภาพเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
สะพานขอม หรือสะพานหิน อยู่ก่อนเข้าตัวเมือง เป็นโบราณสถานเล็ก ๆ ริมถนนสายสกลนคร-อุดรธานี สันนิษฐานว่าเป็นสะพานโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรจากตัวเมืองสกลนครไปยังนอกเมือง เนื่องจากบริเวณนี้เดิมเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง สะพานที่เห็นในปัจจุบันก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งสร้างขึ้นใหม่หลังจากของเดิมได้ถูกรื้อทิ้งเพื่อก่อสร้างถนน
ปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงเวง ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง บ้านธาตุ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 5 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี ทางหลวงหมายเลข 22 ถึงบริเวณบ้านธาตุซึ่งอยู่ก่อนถึงสี่แยกถนนเลี่ยงเมืองเล็กน้อยแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 400 เมตร เป็นพระธาตุประกอบด้วยปรางค์องค์เดียว สร้างด้วยหินทรายบนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ สลักลวดลายลงบนเนื้อหิน มีทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะฆ่าสิงห์ ในรูปแบบศิลปะเขมร สมัยบาปวน ลักษณะคล้ายกับปราสาทหินของขอมที่ปรากฏหลายแห่งภาคอีสาน ลวดลายสลักหินบนซุ้มประตู หน้าต่างยังมีลักษณะสมบูรณ์ปรากฏชัด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของผู้หญิงสร้างทั้งหมด เพื่อแข่งขันกับผู้ชายที่สร้างพระธาตุภูเพ็ก รูปแบบและศิลปะกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 งานประเพณีของพระธาตุเจงเวงจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ-15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี
พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ตั้งอยู่กลางเทือกเขาภูพาน บนเส้นทางหลวงสายสกลนคร -กาฬสินธุ์ เส้นทางหลวงหมายเลข 213 ห่างจากตัวเมืองสกลนคร 13 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปทางด้านขวามือ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2106 เป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชวงศ์ ในคราวเสด็จแปรพระราชฐานเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณสถานที่ตั้งเป็นป่าไม้ร่มรื่น มีไม้ดอกไม้ประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ในระหว่างที่ไม่ได้ประทับอยู่ที่พระตำหนัก อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ทุกวัน โดยทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการพระราชวัง พระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพฯ 10200 และเมื่อได้รับหนังสือตอบรับแล้วจึงจะเดินทางไปชมได้
อุทยานแห่งชาติภูพาน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตของอำเภอเมือง อำเภอพรรณานิคม อำเภอภูพานจังหวัดสกลนคร และอำเภอสมเด็จ อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอกุดบาก จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 655 ตารางกิโลเมตร หรือ 415,439 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2525 ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ตามเส้นทางสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร ภายในอุทยานฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
น้ำตกคำหอม และ โค้งปิ้งงู อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 14 กิโลเมตร บริเวณใกล้เคียงกันจะเป็นที่ตั้งของน้ำตกต่าง ๆ อีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกเหวสินธุ์ชัย น้ำตกตาดโตน น้ำตกสามหลั่น น้ำตกสาวไห้ ผาหินซ้อน อยู่ท่ามกลางป่าไม้ที่ร่มเย็น และหน้าทางเข้าน้ำตกคำหอม บนถนนสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ เป็นช่วงที่คดเคี้ยวไปมาเหมือนกับงูเลื้อย มีหลักกิโลเมตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตั้งอยู่ริมทาง ตกแต่งด้วยไม้ดอก ไม้ประดับเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม การคมนาคมเข้าแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้สะดวก และปลอดภัย สามารถเดินทางเข้าถึงตลอดทั้งปี สำหรับน้ำตกต่าง ๆ จะมีน้ำเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น
ผานางเมินและลานสาวเอ้ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ตามเส้นทางเดินเท้าประมาณ 700 เมตร และ 2 กิโลเมตร ตามลำดับ สองข้างทางจะเป็นป่าพลวงไปตลอดถึงริมหน้าผา ซึ่งเป็นลาดหินทอดยาวหันหน้าไปทางทิศตะวันตกมองเห็นธรรมชาติเบื้องล่างได้อย่างชัดเจนสวยงาม ส่วนด้านล่างหน้าผามีทางเดินไปลานสาวเอ้ ซึ่งเป็นลานหินธรรมชาติที่สวยงาม อยู่ท่ามกลางป่าเขา และบริเวณหน้าผาสูงชัน ในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม จะได้พบเห็นดอกไม้ขึ้นสลับสี เป็นทุ่งกว้าง เหมาะสำหรับพักผ่อน ถ่ายภาพ และชมธรรมชาติ
น้ำตกห้วยใหญ่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 12 กิโลเมตร ลักษณะเป็นลำน้ำที่ยุบตัวลงลดหลั่นเป็นชั้น ๆ รายล้อมด้วยสภาพป่าเขาทึบที่ร่มเย็น
ถ้ำเสรีไทย อยู่ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4.5 กิโลเมตร เป็นถ้ำที่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายเสรีไทยได้ใช้เป็นที่สะสมอาวุธ และเสบียง เพราะเป็นทำเลที่เหมาะสม ปกปิดด้วยป่าไม้ที่เขียวชอุ่ม และบริเวณเดียวกันมีร่องรอยการขุดแต่งเป็นสนามบินลับด้วย
น้ำตกปรีชาสุขสันต์ ตั้งอยู่ในเทือกเขาภูพาน เขตอำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 24 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี ลักษณะเป็นน้ำตกที่ไหลมาตามลานหินลาดเขาลดหลั่นเป็นชั้น บางช่วงคล้ายสไลเดอร์ มีความยาว 12 เมตร อยู่ท่ามกลางสภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์ สามารถลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย น้ำจะมีมากในฤดูฝน การคมนาคมสะดวก สามารถเข้าถึงตัวน้ำตกได้ตลอดปี
สถานที่พัก ทางอุทยานฯ มีบริการบ้านพัก จำนวน 2 หลัง ราคา 20 บาท/คน/คืน เรือนแถว พักได้ 36 คน ราคา 20 บาท/คน/คืน เต็นท์ให้เช่า ราคา 50 บาท/คน/คืน และในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์ไปเอง คิดค่าบำรุงสถานที่ ราคา 30 บาท/คน/คืน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูพาน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47000 โทร. (042) 715180

ชาวภูไท บ้านโนนหอม ตำบลโนนหอม อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางสกลนคร- นาแก (ทางหลวงหมายเลข 223) ประมาณ 13 กิโลเมตร มีทางแยกขวาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ชาวภูไทที่บ้านโนนหอมนี้อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เมื่อประมาณ 100 กว่าปีแล้ว และยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวภูไทไว้ ติดต่อการแสดงจัดพาแลง และการฟ้อนรำของชาวภูไทล่วงหน้าที่ ศูนย์สาธิตการตลาดบ้านโนนหอม เลขที่ 5 หมู่ที่ 2 ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47000
ภาพรอยสลักผาสามพันปีที่ภูผายล ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านนาผาง ตำบลกกปลาซิว ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 38 กิโลเมตร ภูผายลเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ ในบริเวณนั้นมีภาพแกะสลักบนหน้าผาหินเป็นรูปภาพต่าง ๆ แสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ที่ใช้ของแข็งขูดขีดลงบนหน้าผา เช่น ภาพสัตว์ คน ไร่นา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีธรรมชาติรอบข้างเป็นป่าเขาที่สวยงาม การเดินทางจากตัวอำเภอเต่างอยไปตามเส้นทางสายอำเภอเต่างอย-ศรีวิชาไป 5 กิโลเมตร แวะเข้าสู่บ้านม่วง-นาอ่าง และเดินทางต่อผ่านบ้านโพนบก-โพนแพง และบ้านนาผางตามลำดับ รวมระยะเส้นทางประมาณ 35 กิโลเมตร ก่อนถึงภูผายล จากบ้านนาผางขึ้นไปจะเป็นถนนลาดยางจนถึงหน้าผาหิน และมีบันไดขึ้นสู่หน้าผายอดเขา ตามระยะทางสามารถแวะพักตามจุดชมวิว ซึ่งมีก้อนหินทรายตั้งวางเป็นระยะ บางแห่งรูปคล้ายเพิงพัก หรือแท่นที่นั่ง


อำเภออื่น ๆ

อำเภอพรรณานิคม
พระธาตุภูเพ็ก ตั้งอยู่ที่ตำบลนาหัวบ่อ บนเส้นทางหลวงสายสกลนคร-อุดรธานี ห่างจากตัวเมืองสกลนครไปประมาณ 22 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปอีก 14 กิโลเมตร ผู้ที่จะไปนมัสการพระธาตุต้องเดินขึ้นบันไดประมาณ 491 ขั้น จะถึงองค์พระธาตุซึ่งสร้างอยู่บนยอดเขาภูพาน องค์พระธาตุสร้างด้วยหินทราย อยู่บนฐานศิลาแลง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ด้านหน้าเชื่อมต่อกับมณฑป รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นที่ 1 สูงประมาณ 1.58 เมตร ชั้นที่ 2 สูงประมาณ 0.70 เมตร ตัวปราสาทสูง 7.67 เมตร ซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ไม่มีหลังคา และยอดปราสาท เพียงแต่ทำขื่อตั้งไว้เท่านั้น พระธาตุภูเพ็กสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ภายหลังดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานและมีการยกเรื่องประวัติศาสตร์ การก่อสร้างไว้ในตำนานพระอุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม ซึ่งกล่าวไว้ว่า พระธาตุภูเพ็กสร้างโดยกลุ่มผู้ชายเพื่อแข่งขันกับกลุ่มผู้หญิงซึ่งสร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวงเพื่อรอบรรจุพระ อุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า แต่กลุ่มผู้ชายได้ยุติการสร้างเมื่อเห็นดาวเพ็กบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นกลลวงของกลุ่มผู้หญิงผู้สร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวง ปราสาทหลังนี้จึงได้ชื่อว่า ปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ตามชื่อดาว “เพ็ก”
วัดถ้ำขาม ตั้งอยู่บนภูขาม ซึ่งเป็นเขาลูกหนึ่งบนเทือกเขาภูพาน การเดินทาง ใช้เส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี ไปประมาณ 22 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าทางเดียวกับพระธาตุภูเพ็กไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ถึงบ้านนาสาวนานมีทางลูกรังแยกไปอีกประมาณ 13 กิโลเมตร วัดถ้ำขามนี้เดิมเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้จนถึงประมาณ พ.ศ. 2507 ท่านอาพาธจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร นอกจากนี้ยังเป็นวัดหนึ่งที่เก็บอัฐิของพระอาจารย์เทศก์ เทศรังสี ซึ่งมีผู้คนยังเดินทางมาสักการะบูชาอยู่เป็นประจำ
พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร ตั้งอยู่ที่วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณานิคม ตามเส้นทางสกลนคร-อุดรธานี จากสกลนครถึงอำเภอพรรณานิคมประมาณ 37 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวขวาผ่านตัวอำเภอพรรณานิคมไปประมาณ 2 กิโลเมตร ลักษณะตัวพิพิธภัณฑ์เป็นรูปเจดีย์ฐานกลมกลีบบัวสามชั้น ภายในมีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นมีขนาดเท่ารูปจริง ในท่านั่งห้อยเท้า และถือไม้ เท้าไว้ในมือ มีตู้กระจกบรรจุอัฐิ และแสดงเครื่องอัฐบริขารที่ท่านใช้เมื่อยามมีชีวิต รวมทั้งประวัติความเป็นมาตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กำเนิดในสกุลสุวรรณรงค์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ที่ตำบลบ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม และได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 19 ปี ณ วัดโพนทอง จนอายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบทในพุทธศาสนาฝ่ายมหานิกาย ต่อมาได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์ติดตามพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
วัดคำประมง ตั้งอยู่ที่บ้านคำประมง ตำบลสว่าง เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 22 สายสกลนคร-พรรณานิคมประมาณ 30 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาไปทางอำเภออากาศอำนวยอีกประมาณ 10 กิโลเมตร อาคารต่าง ๆ สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ วัดนี้เป็นที่วิปัสสนาของพระครูสันติวรญาณ (หลวงปู่สิม พุทธาโร) พระเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่งของไทย

อำเภอพังโคน
เขื่อนน้ำอูน อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ใช้เส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี ทางหลวงหมายเลข 22 ก่อนถึงอำเภอพังโคน ประมาณ 5 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าถนนสายพังโคน-วาริชภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 227) เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร รวมระยะทางจากจังหวัดประมาณ 57 กิโลเมตร เป็นเขื่อนดิน สร้างกั้นลำน้ำอูนซึ่งเป็นสายหนึ่งของแม่น้ำสงคราม ซึ่งมีต้นน้ำมาจากเทือกเขาภูพาน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการชลประทาน บรรยากาศเหมาะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ สภาพโดยทั่วไปเป็นอ่างเก็บน้ำกว้างใหญ่ รายล้อมด้วยเทือกเขาภูพาน และป่าไม้ที่สวยงาม บริเวณใกล้กับสันเขื่อนเป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากการระบายน้ำออกจากเขื่อน

อำเภอสว่างแดนดิน
ปราสาทบ้านพันนา ตั้งอยู่ที่บ้านพันนา อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 70 กิโลเมตร ในเส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี ลักษณะของปราสาทมียอดเดียว ฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างด้วยศิลาแลง บริเวณใกล้กับตัวปราสาทมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ มีน้ำขังตลอดปี เชื่อว่าสร้างสมัยเดียวกับปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ปราสาทบางส่วนยังคงสภาพสมบูรณ์

อำเภอวาริชภูมิ
พระธาตุศรีมงคล ตั้ง อยู่ที่วัดพระธาตุศรีมงคล ตำบลบ้านธาตุ ริมเส้นทางสายวาริชภูมิ-พังโคน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 65 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ยอดแหลม ตกแต่งด้วยศิลปกรรมยุคใหม่ ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยลายปั้นดินเผา บริเวณฐานเป็นพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าสร้างด้วยดินเผาที่สร้างขึ้นครอบพระ ธาตุองค์เดิม ซึ่งเป็นศิลาแลงที่ชำรุด การคมนาคมสะดวกรถยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณวัด นับเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอวาริชภูมิ
ถ้ำพระพุทธไสยาสน์ (ถ้ำ พระทอง หรือภูผาทอง) ตั้งอยู่ที่ตำบลค้อเขียว ห่างจากที่ว่าการอำเภอวาริชภูมิประมาณ 9 กิโลเมตร บริเวณถ้ำมีลักษณะนำเพิงหินมาดัดแปลงก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นศาลาการเปรียญ บริเวณใกล้ถ้ำมีหินธรรมชาติรูปร่างแปลก ๆ มากมาย

อำเภอส่องดาว
วัดถ้ำอภัยดำรงธรรมและพิพิธภัณฑ์อาจารย์วัน อุตตโม พิพิธภัณฑ์ พระอุดม สังวรวิสุทธิ สร้างเป็นรูปทรงจตุรมุข 2 ชั้น ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ชั้นล่าง ตกแต่งเป็นห้องแสดงภาพวาดเกี่ยวกับประวัติของพระอาจารย์ตั้งแต่เกิด ส่วน ชั้นบน มีรูปปั้นของท่านในท่านั่งขัดสมาธิ พร้อมเครื่องสักการะบูชาที่ตกแต่งสวยงาม และตู้กระจกแสดงเครื่องอัฐบริขารของท่าน บริเวณใกล้เคียงกันมีถ้ำพวงซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระมุจรินทร์องค์ใหญ่
การเดินทาง ใช้เส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี เส้นทางหลวงหมายเลข 22 ระยะทางประมาณ 84 กิโลเมตร ก็จะถึงอำเภอสว่างแดนดิน เลี้ยวซ้ายผ่านอำเภอส่องดาวไปถึงวงเวียนอนุสาวรีย์พระเวสสันดรระยะทางอีก ประมาณ 27 กิโลเมตร จากอนุสาวรีย์หากแยกขวาจะไปวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จากตรงไปประมาณ 5 กิโลเมตร
ผาดงก่อและผาน้ำโจ้ก อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพิพิธภัณฑ์อาจารย์วัน ก่อนถึงพิพิธภัณฑ์มีทางลูกรังแยกซ้ายระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เส้นทางนี้ตัดเลียบผาน้ำโจ้ก และผาดงก่อ ซึ่งอยู่บนภูผาเหล็กอันเป็นยอดสูงสุดของเทือกเขาภูพาน มีก้อนหินขนาดใหญ่วางพาดอยู่ริมหน้าผาที่ดูเหมือนจะหล่นลงไปข้างล่าง หากยืนบนภูเขาแห่งนี้จะมองเห็นทิวเขาอันสลับซับซ้อนของภูพาน และหมู่บ้านต่าง ๆ ของจังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้หากนักท่องเที่ยวมาเที่ยวบริเวณนี้ในช่วงฤดูฝนสามารถแวะเข้าชมน้ำตกเก้าชั้น น้ำตกแก่งกุลาซึ่งอยู่ระหว่างทางขึ้นไปยังพิพิธภัณฑ์อาจารย์วัน โดยเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก

อำเภอกุดบาก
เขื่อนน้ำพุง จากตัวเมืองไปตามถนนสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ประมาณ 37 กิโลเมตร จะอยู่ทางด้านซ้ายมือ เป็นเขื่อนแบบหินทิ้ง เป็นแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความยาว 1,720 เมตร สูง 40 เมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายให้ประชาชนในเขตจังหวัดสกลนคร และนครพนม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทำพิธีเปิดเขื่อนน้ำพุงเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508

อำเภอกุสุมาลย์
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปู่มเหศักดิ์ และพิพิธภัณฑ์ไทยโส้ ตั้งอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอกุสุมาลย์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร อยู่ทางด้านขวามือ ตามเส้นทางสายสกลนคร-นครพนม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สักการะบูชาของชาวไทยโส้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่สถิตย์ของเทพซึ่งช่วยคุ้มครองชาวไทยโส้ ในพิพิธภัณฑ์เป็นที่เก็บสิ่งของเครื่องใช้ของชาวไทยโส้ซึ่งอพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีแผ่นป้ายเขียนข้อความภาษาของชาวไทยโส้เปรียบเทียบกับภาษาไทย ให้เห็นถึงความแตกต่างของตัวอักษร และสำเนียงการออกเสียง

อำเภอเต่างอย
อุทยานแห่งชาติห้วยหวด ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และอำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร มีพื้นที่ประมาณ 825 ตารางกิโลเมตร หรือ 517,850 ไร่ เป็นอุทยานฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม พ.ศ. 2531 สภาพป่าทั่วไปเป็นที่ราบสูงสลับกับเทือกเขาหินทราย
การเดินทาง จากอำเภอเมืองสกลนครเดินทางไปตามทางหลวงสายสกลนคร-นาแก ประมาณ 14 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะถึงอำเภอเต่างอย และเดินทางต่อไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือใช้เส้นทางสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ ไปประมาณ 5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2339 ไปอุทยานฯ อีกประมาณ 35 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ

อ่างเก็บน้ำห้วยหวด เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนชลประทานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บริเวณพลับพลาฝั่งขวาของอ่างเก็บน้ำมีก้อนหินรูปร่างแปลก และยังสามารถมองเห็นน้ำตก 2 สาย ซึ่งไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยหวด
ลานดุสิตา เป็นลานหินซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง ในราวปลายฤดูฝนจะมีดอกไม้เล็ก ๆ นานาพรรณขึ้นอยู่ละลานตา โดยเฉพาะ ดอกดุสิตา ซึ่งมีสีม่วง และมีดอกกระดุมเงิน สร้อยสุวรรณา เอนอ้า หยาดน้ำค้าง ซึ่งทางอุทยานฯ ได้จัดทำทางเดินเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงามของธรรมชาติ โดยไม่เหยียบย่ำไปบนพืชเล็ก ๆ ที่สวยงามเหล่านี้
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่ ถ้ำหีบภูผานาง ถ้ำเสาวภา อ่างเก็บน้ำดงน้อย และถ้ำพระเวทย์ นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะค้างแรมในอุทยาน ฯ ต้องนำเต็นท์ และอาหารไปเอง ค่าบำรุงสถานที่ 30 บาท/คน/คืน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติห้วยหวด อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร 47260 หรืออุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ


อุทยานแห่งชาติภูพาน จังหวัดสกลนคร

อุทยานแห่งชาติภูพาน ปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอพรรณานิคม อำเภอเมือง อำเภอกุบาก จังหวัดสกลนคร อำเภอสมเด็จ กิ่งอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผาทิวทัศน์ตามธรรมชาติ ตลอดจนพื้นป่าแห่งนี้ในอดีตได้ชื่อว่าเป็นปัญหาทางด้านการเมืองและในสมัย สงครามโลกครั้งที่2 ก็ยังเป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ใช้สำหรับต่อต้านทหารกองทัพญี่ปุ่นซึ่ง นับเป็นประวัติศาสตร์ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 665.34 ตารางกิโลเมตร หรือ 415,439 ไร่ (ตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2525)

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินทราย เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารและห้วยต่าง ๆ เช่น ห้วยหินลาดห้วยบุ่น ห้วยโคก ห้วยม่วง ห้วยเลา ห้วยหินปูน ห้วยอีคอน ห้วยวังปลา เป็นต้น ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำอูน ตามสันเขาและไหล่เขาบางแห่งเป็นทุ่งหญ้า บางแห่งมีหินโผล่สูงขึ้นมาพ้นระดับดินและยอดหญ้า ทำให้เกิดความงดงามตามธรรมชาติ และบางแห่งเป็นหน้าผาสูงชัน

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศแบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม ฝนตกชุกประมาณเดือนกันยายนและฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ อากาศเย็นสบาย

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า

สภาพป่าประกอบด้วยป่าเต็งรัง ขึ้นอยู่กระจัดกระจายโดยทั่วไป มีพันธุ์ไม้ ได้แก่ เหียง พลวง รกฟ้า ส้าน กระบก เต็ง รัง เป็นต้น ป่าดิบแรกขึ้นอยู่หนาแน่นตามบริเวณฝั่งลำห้วยและตามลำแม่น้ำ พรรณไม้ ได้แก่ ไม้ตะเคียนต่างๆ มะค่าโมง ยาง ประดู่ ตะแบก พยุง พยอม สมพง แดง นนทรี เป็นต้น และป่าเบญจพรรณ ขึ้นอยู่ตามลาดเขาระหว่างป่าเต็งรังกับป่าดิบแรก พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ผสมกันไป ไม้พื้นล่างประกอบด้วย ไม้ไผ่ หวายต่าง ๆ ทุ่งหญ้ามีเนื้อที่กว้างขวาง มีหญ้าเพ็ก หญ้าคา และหญ้าคมบางขึ้นอยู่
สัตว์ป่าประกอบด้วย ค่าง ชะมด บ่าง กระรอก เม่น ลิงลมหรือนางอาย เสือปลา อีเห็น ไก่ป่า ช้างป่า และนกนานาชนิด เช่น นกขุนทอง นกแซงแซว นกดุเหว่า นกกางเขนดง นกหัวขวาน นกกวัก เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยว

พระธาตุภูเพ็ก เป็น พระธาตุเก่าแก่สมัยขอมเรืองอำนาจ อยู่บนเทือกเขาภูพาน สูงจาก ระดับน้ำทะเลประมาณ 544 เมตร สร้างด้วยศิลาแลงในลักษณะของเทวาลัยภายในวัดยังมีพระพุทธรูปโบราณที่เพิ่ง ขุดพบ
ถ้ำเสรีไทย เป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ไปต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ของขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีนายเตียง ศิริขันธ์ เป็นหัวหน้าขบวนการสายสกลนคร
เทือกเขาภูพาน เป็นขุนเขาแห่งประวัติศาสตร์ที่มีผู้รู้จักมากที่สุด แต่เป็นดินแดนที่น้อยคนนักที่ได้เข้าไปสัมผัสความงดงามตามธรรมชาติ โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างจังหวัดสกลนคร-กาฬสินธุ์ สภาพป่า ภูเขา น้ำตกยังบริสุทธิ์ ท้าท้ายต่อการพิสูจน์เสมอ
น้ำตกคำหอม เป็นน้ำตกที่รู้จักกันโดยแพร่หลายของชาวสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง ในบริเวณน้ำตกแห่งนี้ ทางราชการได้จัดงานสัปดาห์การท่องเที่ยวเพื่อชี้แจงให้ราษฎรได้รู้จักความ สำคัญของป่าไม้ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นประจำทุกปี น้ำตกแห่งนี้อยู่ใกล้เคียงกับน้ำตกตาดโตน ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตพระราชฐาน
น้ำตกปรีชาสุขสันต์ มี ลักษณะเป็นลานหินลาดเอียงประมาณ 30-40 องศา ยาวประมาณ 12 เมตร บนลานหินที่ลาดเอียงนี้มีน้ำไหลผ่านบนผิวเสมอกันทั้งแผ่นเหมือนกระดานลื่น ที่มีน้ำคอยหล่อเลี้ยงอยู่ เรียกได้ว่าเป็นลานสไลด์เดอร์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ผานางเมิน เป็นแนวหินผาที่ทอดตัวออกหันหน้าไปทางทิศตะวันตกสามารถชมทิวทัศน์ออกไปได้ไกลแสนไกล เหมาะแก่การตั้งค่ายพักแรมและดูพระอาทิตย์ตก
ผาเสวย อยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ ลักษณะเป็นหน้าผาที่หันหน้าไปทางทิศใต้ ณ ที่แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จและประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน จึงได้ชื่อว่า ผาเสวย มาแต่บัดนั้น
สะพานหินธรรมชาติ (ทางผีผ่าน) มีลักษณะเป็นสะพานหินที่เชื่อมต่อระหว่างหินสองกลุ่ม ขนาดกว้างของสะพานประมาณ 1.5 เมตร ยาวประมาณ 8 เมตร ด้านใต้เป็นเวิ้งถ้ำกว้างใช้เป็นที่หลบแดดหลบฝนได้ นับว่าเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างหนึ่ง

บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวก

อุทยานแห่งชาติภูพาน มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว ได้จัดเตรียมสถานที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปพักแรมค้างคืนนักท่องเที่ยวควรนำเต็นท์ไปเอง

การเดินทาง

รถยนต์ จากอำเภอเมือง จังหวัดสกลนครไปตามทางหลวงหมายเลข 213 ประมาณ 25 กิโลเมตร ผ่านพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ถึงบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติที่กิโลเมตร25 ซึ่งอยู่ริมทางหลวง

สถานที่ติดต่อ

อุทยานแห่งชาติภูพาน ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร 47000 โทรศัพท์ : (0) 4270 3044, (0) 1263 5029


อุทยานแห่งชาติภูผายล จังหวัดสกลนคร

อุทยานแห่งชาติภูผายล มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอเมือง กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ กิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และอำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เป็น 1 ใน 5 ของโครงการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2530 สภาพทั่ว ๆ ไปเป็นที่ราบสูงสลับกับเทือกเขาหินทราย เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีธรรมชาติและทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา เนินหิน อ่างเก็บน้ำ และสัตว์ป่านานาชนิด มีเนื้อที่ประมาณ 828.56 ตารางกิโลเมตร หรือ 517,850 ไร่

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงสลับกับเทือกเขาหินทราย มีความสูง 300 - 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล บริเวณเทือกเขามีที่ราบหลังเต่ายาวประมาณ 10 กิโลเมตร รายล้อมด้วยภูเขาสูงชันเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำหลายสาย ไหลลงสู่แม่น้ำพุง ห้วยบางทราย ห้วยหวด ห้วยเลา และอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ถึง 19 แห่ง ที่น่าสนใจได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหวด อ่างเก็บน้ำตาน้อย สภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายความสามารถอุ้มน้ำได้น้อย

ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาลคือฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - มกราคม ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา มีพันธุ์ไม้ได้แก่ ไม้ตะเคียน มะค่าโมง ตะแบก เต็ง รัง แดง เหียง พลวง กะบก ประดู่ พยุง ไม้ไผ่และหวาย ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนสัตว์ป่าจะประกอบไปด้วย เก้ง กวาง หมูป่า หมาไน นกชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

แหล่งท่องเที่ยว
ภูผายล อยู่ บนเส้นทางสาย อ.เต่างอย-ศรีวิชา แล้วเลี้ยวซ้ายบ้านนาอ่าง-ม่วงคำ เดินทางเข้าต่อบ้านโพนบก-โพนแพง ไปยังบ้านนาผาง รวมระยะทางประมาณ 35 กม. รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ มีจุดชมวิวที่สวยงามเพราะมีบันไดยืนชมวิวได้ หน้าผามีรูปแกะสลักรูปภาพต่าง ๆ ซึ่งมีอายุประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งแสดงเรื่องราวมากที่สุดในบรรดาศิลปะแบบเดียวกันทั้ง 7 แห่ง ในภาคอีสาน
อ่างเก็บน้ำห้วยหวด บริเวณพลับพลาฝั่งขวาของอ่างห้วยหวดมีก้อนหินรูปร่างแปลกน่าสนใจเรียงรายตามธรรมชาติอย่างสวยงาม ตั้งอยู่ที่กิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 500 เมตร มีจุดชมวิวบริเวณสันเขื่อน และหน้าผาขอบอ่างหลายแห่งมีลานหินต่าง ๆ ที่วางตัวตามธรรมชาติอย่างสวยงาม เหมาะที่จะนำอาหารมารับประทานและเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับบรรยากาศที่เย็นสบาย

อ่างเก็บน้ำดงน้อย ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
ถ้ำหีบภูผานาง ตั้งอยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
ถ้ำพระเวทย์ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
ถ้ำเสาวภา ตั้งอยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
หน้าผาเนินหิน ประกอบด้วยลานดอกไม้ มีไม้ดอกสีม่วง คือ ดอกดุสิตา สีเหลืองและสีขาวบริเวณหน้าผาจะพบเห็นดอกไม้ชนิดหนึ่งคล้ายดอกกล้วยไม้ ซึ่งออกดอกช่วงฤดูหนาว

น้ำตกคำน้ำสร้าง เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดของอุทยานฯ ถ้ายืนบนสันเขื่อนมองลงไปทางทิศใต้จะสามารถมองเห็นน้ำตกได้ อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 400 เมตร เดินชมน้ำตกได้โดยทางเท้าธรรมชาติน้ำตกสูงประมาณ 20 เมตร ไหลมาจากห้วยคำน้ำสร้างไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยหวด
ผาพญาเต่างอย จาก ที่ทำการไปตามถนนเส้นบ้านห้วยหวด-โคกกลาง ระยะทางประมาณ 7 กม. จะพบผาพญาเต่างอยอยู่ริมถนนลักษณะเป็นหินทรายรูปร่างคล้ายเต่างอยกำลังจะลง น้ำหันหน้าลงสู่ลำน้ำพุง กว้าง 5 เมตร โดยเชื่อกันว่าบริเวณใดที่มีเต่างอยแสดงว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นตำนานเรียกชื่อบ้านเต่างอย
น้ำตกแก่งโพธิ์ ออกจากที่ทำการอุทยานฯ ไปตามถนนสายเปรมพัฒนา แล้วแยกซ้ายที่บ้านสานแว้ ผ่านหมู่บ้านนาหินกอง รวมระยะทาง 32 กม. เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง กว้างประมาณ 14 เมตร สูง 10 เมตร มีพื้นที่สามารถกางเต็นท์พักแรมได้กว่าพันคน

บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวก

อุทยานแห่งชาติภูผายล ได้จัดเตรียมบริเวณสำหรับกางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว

การเดินทาง
รถยนต์ จากอำเภอเมือง จังหวัดสกลนครเดินทางไปตามทางหลวงสายสกลนคร – ธาตุพนม ห่างจากจังหวัดนครพนม 14 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามถนนลูกรังอีก 12 กิโลเมตร ถึงกิ่งอำเภอเต่างอย และเดินทางอีก 6 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานฯรวมระยะทางจากจังหวัดสกลนครถึงอ่างเก็บน้ำห้วยหวด ประมาณ 35 กิโลเมตร

สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติภูผายลอ.เต่างอย จ.สกลนคร 47260 โทรศัพท์ : (0) 4298 1057


อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จังหวัดสกลนคร

อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก พื้นที่ป่าส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญหรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “ผืนป่ารักน้ำ” เพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของ ประชาชนในภาคอีสานตอนบน อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสงคราม , แม่น้ำชี , ลำน้ำอูน , ห้วยลำพันชาด , ห้วยกระเชอ ฯลฯ ซึ่งต่อมาได้มีโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างพื้นที่เก็บกักน้ำที่สำคัญได้แก่ เขื่อนน้ำอูน , เขื่อนลำปาว , อ่างเก็บน้ำที่อยู่โรอบพื้นที่สำรวจเป็นอุทยานแห่งชาติประมาณ 20 แห่ง ซึ่งประชาชนได้ประโยชนด้านอุปโภค , บริโภค , ด้านการเกษตรกรรม

ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยาน แห่งชาติภูผาเหล็กตั้งอยู่บริเวณเส้นรุ้ง 17 15 – 16 49 เหนือ และเส้นแวง 103 15 – 103 50 ตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานที่ทอดยาวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก มีความยาวประมาณ 54 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-600 เมตร ภูเขาที่สูงที่สุดในพื้นที่คือ ภูอ่างสอ ที่ระดับความสูง 695 เมตร พื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กเป็นแหล่งกำเนิดลำห้วยน้อยใหญ่ที่ สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำสงคราม ลำน้ำยาม ลำน้ำอูม ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทรายตามป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณและดิน ลูกรังตามป่าเต็งรัง หินที่พบในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินทราย

ลักษณะภูมิอากาศ
บริเวณอุทยานฯมีภูมิอากาศแบบมรสุม ฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม อากาศร้อนมาก อุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียส มักมีไฟป่าเกิดขึ้นทั่วพื้นที่ ฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม และฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อากาศหนาวเย็น อุณหภูมิประมาณ 15-20 องศา ประมาณน้ำฝนตลอดปีประมาณ 1,000-1,300 มม.

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าเต็งรังกระจายตามเชิงเขาและสันเขา พันธุ์ไม้สำคัญ คือ เต็ง รัง เหียง พลวง ไม้พื้นล่างเป็นหญ้าเพ็ก กะเจียว ตามหุบเขาเป็นป่าเบญจพรรณ มีไม้ชิงชัน แดง ประดู่ มะค่าแต้ และไผ่หลายชนิด เช่น ไผ่ซาง ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ไร่ ไผ่รวก ไผ่ป่า ตามริมห้วยเป็นป่าดิบแล้ง พบไม้ยาง กระบาก ตะเคียน ตะแบก มะค่าโมง ไม้พื้นล่างเป็นพวกหวาย ปาล์ม สมุนไพรต่าง ๆ
สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่ หมูป่า เก้ง กระจง ลิง ค่าง กระรอก ตะกวด งู และนกชนิดต่าง ๆ ส่วนสัตว์ป่าที่เหลือก็อยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม เนื่องจากราษฎรรอบพื้นที่ยังมีการล่าสัตว์อยู่เป็นประจำ

แหล่งท่องเที่ยว
สุสานไดโนเสาร์ ตั้งอยู่บริเวณกลางเขาภูผาเหล็ก อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร และบริเวณชายป่าภูพาน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะเป็นกระดูกสัตว์ที่กลายเป็นหินมีอายุ หลายล้านปีทับถมกันจำนวนมาก บางส่วนยังฝังอยู่ในหิน ในดิน มีลักษณะเป็นฟอสซิลของสัตว์และพืช เช่น ไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิสูจน์จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นสัตว์ชนิดใด อายุเท่าไร ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างกว่า 1,250 ไร่ และประมาณว่ามีซากสัตว์ดึกดำบรรพ์มากกว่าร้อย ทับถมกันอยู่จึงจัดว่าเป็นพื้นที่สุสานไดโนเสาร์ก็ว่าได้
ภาพเขียนก่อประวัติศาสตร์ผาผักหวาน เป็นภาพเขียนโบราณ อายุประมาณ 3,600 ปี อยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ เป็นภาพลักษณะคล้ายผู้หญิง ทรงผมกลมโต ยืนเรียงกันเป็นแถวโดยใช้มือเกาะไหล่กัน คล้ายทำกิจกรรมอะไรบ้างอย่าง เป็นลักษณะน่องโป่งระบายด้วยสีแดงทึบอยู่ในป่าดง พันนา ป่าดงพระเจ้า บ้านภูตะดาม ตำบลท่าศิลา ห่างจากที่ทำการอุทยาน ประมาณ 18 กิโลเมตร
ผาสุริยันต์ เป็นหน้าผาสูงอยู่บนยอดสูงสุดของภูผาเหล็ก เป็นจุดชมวิวที่สวยงามและเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าได้สวยงามแนะน่าประทับใจ
ผาลงก่อ เป็นหน้าผาสูงอยู่บนยอดภูผาเหล็กถัดจากผาสุริยันต์มาทางทิศตะวันออก เป็นจุดชมวิว สามารถมองเห็นบริเวณป่าทึบและเทือกเขาสลับซับซ้อนกันมากมาย

ผาน้ำโจ้ก เป็นหน้าผาสูงอยู่ยอดภูผาเหล็กทางทิศตะวันออก เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำห้วยหาด และมองได้ไกลถึงจังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น และสามารถชมพระอาทิตย์ตกดินในยามอัสดงได้สวยงามมาก
หอส่องดาว ตั้งอยู่บนยอดเขาภูผาเหล็ก ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 700 เมตร สามารถมองเห็นทัศนียภาพรอบด้านได้เกือบ 360 หอส่องดาวจึงใช้เป็นสามารถที่สำหรับศึกษา ดวงดาวในเวลากลางคืน และชมปรากฎการณ์ฝนดาวตกได้ชัดเจนมาก และทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์ ฝนดาว นักท่องเที่ยวก็จะมาจองพื้นที่บริเวณกันจำนวนมากกว่าพันคน
ป่าหินดานมันปลา เป็นโขดหินทรายที่สลับซับซ้อนเป็นบริเวณกว้างประมาณ 2 พันไร่ มีทุ่งหญ้าและลานดอกไม้ขึ้นสวยงาม เช่น ดอกกระดุมเงิน ดอกเอนอ้า ดอกหญ้าหัวก่ำดำ ดอกดาวอีสาน และดอกตองหมอง ฯลฯ
ลานอุษาสวรรค์ เป็นบริเวณที่ราบบนยอดภูผาเหล็ก เนื้อที่ประมาณ 1,550 ไร่ ซึ่งมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าป่าละเมาะ เขาและโขดหินทอดสลับกับทุ่งหญ้า ดูคล้ายสวนประดิษฐ์ มีดอกไม้ป่าขึ้นมากมาย เช่น ดอกสารภีดอย ดอกเอนอ้า ดอกดาวเรืองภู ดอกม้าวิ่ง ดอกหญ้าข้าวก่ำ ดอกกระดุมเงิน ดุสิตตา ฯลฯ
อ่างเก็บน้ำต่างๆ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กที่มีทิวทัศน์สวย งามเช่นอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหยาด อ่างเก็บน้ำห้วยมะไฟตอนบน อ่างเก็บน้ำห้วยกระเฌอและอ่างเก็บน้ำห้วยหาด
ถ้ำต่าง ๆ บริเวณเทือกภูผาเหล็ก มีถ้ำที่น่าสนในเหมาะแก่การท่องเที่ยวและพักผ่อนผจญภัยในการเดินป่า เช่น ถ้ำแกลบ ถ้ำท้องช้าง ถ้ำทองคำ (ถ้ำจิก)ฯ

น้ำตกแก่งกุลา เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่ไหลลงจากเทือกภูผาเหล้กทางด้านทิศเหนือมีน้ำตลอดทั้งปีมีน้ำมากในฤดูฝน และกลายเป็นลำน้ำยามไหลลงสู่เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร
น้ำตกดีหมี เป็นน้ำตกขนาดปานกลางมีน้ำไหลตลอดทั้งปีอยู่บนสันเขาภูสันตาแสงและภูผาแดงพื้นที่อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี น้ำตกดีหมีเป็นต้นน้ำของห้วยลำพันชาด ที่ไหล ลงสู่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ และลงสู่แม่น้ำชี
น้ำตกเก้าชั้น เป็นน้ำตกขนาดเล็กลดหลั่งจากยอดเขาภูผาเหล็กและไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยมะไฟตอนบนและไหลลงสู่แม่น่ำสงคราม มีน้ำในฤดูฝนประมาณ 8 เดือน

บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวก
อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ได้จัดสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว

การเดินทาง

รถยนต์ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งล้อยมาทางจังหวัดอุดรธานี ฉะนั้น เส้นทางที่สะดวกที่สุดที่จะเข้าสู่พื้นที่คือ เริ่มจากจังหวัดอุดรธานีใช้เส้นทางจังหวัดอุดรธานี-สกลนคร มาตามเส้นทางหลวงแผ่นดินที่ 22 จนถึงทางแยกหลัก กม. ที่ 95 (ที่ตั้งเรือนจำจังหวัดสว่างแดนดิน) ให้เลี้ยวขวาไปตามถนน รพช. สายบ้านต้าย-ดอนส้มโฮง ถึงทางแยกบ้านโพนสว่าง หลัก กม. 17 ให้เลี้ยวขวาไปตามถนน รพช. สายบ้านโพนสว่าง – ภูผาเหล็ก อีก 6 กม. ก็จะถึงที่ทำการชั่วคราวอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก รวมระยะทางจากจังหวัดอุดรธานี ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ประมาณ 82 กม.

สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก บ้านท่าวัด ตำบลปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร 47190 โทรศัพท์ : (0) 4260 1753


ข้อมูลงานประเพณี : ของฝาก จังหวัดสกลนคร

งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จัดขึ้นในช่วงออกพรรษา ระหว่างวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในตอนกลางคืนของวันขึ้น 13 ค่ำ ก่อนวันทำการแห่ขบวนปราสาทผึ้ง ชาวคุ้มต่าง ๆ จะนำปราสาทผึ้งของตนที่ตกแต่งอย่างสวยงามประดับโคมไฟหลากสีมาตั้งประกวดแข่ง ขันกัน ณ สนามมิ่งเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ชมความสวยงามอย่างใกล้ชิด สำหรับวันขึ้น 14 ค่ำ จะเป็นวันแห่ขบวนปราสาทผึ้งที่ตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงามของคุ้มวัดต่าง ๆ แห่ไปตามถนนในเขตเทศบาลไปสู่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารปราสาทผึ้งที่แต่ละ ขบวนนำมาจะมาตั้งไว้เป็นพุทธบูชา ณ บริเวณวัดพระธาตุเชิงชุม ด้วยความศรัทธาของชาวอีสานที่เชื่อว่าในเทศกาลออกพรรษาพระพุทธเจ้าจะเสด็จลง มาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อมาโปรดเวไนยสัตว์ในโลกมนุษย์ให้พ้นทุกข์
งานประเพณีแข่งเรือ จัดขึ้นร่วมกับงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งในเทศกาลออกพรรษา ในวันขึ้น 12-13 ค่ำ เดือน 11 ในน่านน้ำหนองหาร ซึ่งจัดเป็นประเพณีมาช้านานเป็นร่องน้ำสำหรับแข่งเรือมีอยู่ 2 แห่ง คือ หน้าสระพังทอง ทางทิศตะวันออก และท่านางอาบ บ้านท่าวัด นอกจากนั้นงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง และแข่งเรือจังหวัดสกลนคร จัดต่อเนื่องกับการจัดประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม

งานเที่ยวหนองหาน ชมภูพานเผ่าไทย ชิมข้าวหอมใหม่ไทสกล เป็นงานประจำปีของจังหวัดสกลนคร ที่จัดขึ้นหลังจากที่ได้มีการจัดงานฉลองเมืองสกลนคร 150 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยกำหนดจัดงานขึ้นในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคมของทุกปี มีกำหนดปีละ 7 วันบริเวณศาลากลางจังหวัดสกลนครในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันเปิดงานจะมีการแสดง ขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ไทย (ภูไท) โส้ ย้อ โย้ย กะเลิง กะตาก ลาว ญวน และจีน เป็นต้น นอกจากนี้ในแต่ละวันจะมีกิจกรรมประกอบงานต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น การประกวดนางสาวสกลนคร การออกร้านแสดงนิทรรศการของส่วนราชการต่าง ๆ การประกวดศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน การจัดพาแลง การแสดงมหรสพต่าง ๆ การออกร้านกาชาด การจำหน่ายสินค้าราคาถูกของร้านค้าเอกชน เป็นต้น
งานเทศกาลโส้รำลึก เป็นงานประจำปีของชาวโส้ ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอกุสุมาลย์ การแสดงโส้ทั่งบั้ง จะเริ่มในตอนสายของวันขึ้น 4 ค่ำ ตามประเพณีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่อดีต เป็นการแสดงพิธีเยา (เชิญวิญญาณเข้าทรงคนป่วยลงสนามหรือแซงสนาม) และพิธีเจี้ยศาลารวมเข้ากันเพื่อให้เกิดรูปขบวนที่สวยงามเป็นจังหวะสอดคล้อง กับ เครื่องดนตรีพื้นบ้านที่ดีดสีตีเป่าเข้ากับท่วงท่ารำของสาวโส้ ที่มาร่วมแสดงเป็นจำนวนมาก ชาวโส้ถือว่าเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ในบริเวณงานจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านนานาชนิดให้แก่ผู้ ไปเที่ยวชมในราคาถูก การคมนาคมสะดวก รถยนต์เข้าถึงบริเวณงาน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร
งานเซิ้งผีโขน เป็นงานประเพณีของชาวบ้านไฮหย่อง ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน จัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ในงานจะมีขบวนของชาวบ้านแต่งชุดผีประเภทต่าง ๆ จำนวนมากแห่ไปตามถนนในหมู่บ้านตามขบวนแห่พระเวสไปยังวัดไฮหย่องเพื่อทำบุญอุทิศกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ มีการแสดงท่ารำต่าง ๆ ของผีเป็นที่ครึกครื้น การคมนาคมสะดวก ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 48 กิโลเมตร
รำมวยโบราณ เป็นการต่อสู้ของนักมวยโบราณ มีลักษณะพิเศษคือ การใช้ฝ่ามือตบ หรือตีแทนการใช้หมัด แล้วถอยออกมาอย่างรวดเร็ว ไม่นิยมคลุกวงใน เมื่อถอยออกมาแล้วนักมวยจะร่ายรำไปมาเพื่อหาโอกาสและจังหวะที่จะรุกเข้าอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเผลอตัว เทคนิคในการรุกการถอย การตอบโต้ของนักมวยโบราณมีหลายแบบ และถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกหัด การแสดงรำมวยโบราณจะเห็นได้ในขบวนแห่งานประเพณีของจังหวัด
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม อยู่ในท้องที่บ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ เดินทางไปตามเส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี ทางหลวงหมายเลข 22 ระยะทาง 84 กิโลเมตรถึงอำเภอสว่างแดนดิน แยกขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 2091 และไปอีกประมาณ 23 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกมาก เป็นแหล่งผลิตศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา การแกะสลักไม้ และการทอผ้าไหม และมีห้องแสดงการปั้นเขียนสีและแสดงผลิตภัณฑ์ ฝีมือในการผลิต และออกแบบสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่นิยมใช้ของไทย ผลิตภัณฑ์จากศูนย์มักนำออกแสดงให้ชม และจำหน่ายในงานนิทรรศการที่เกี่ยวกับสินค้าของที่ระลึกประจำจังหวัด รวมทั้งงานออกร้านในเทศกาลต่าง ๆ ในต่างจังหวัด และในกรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ทุกวันอังคาร-วันเสาร์
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านจาร ตั้งอยู่ที่บ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 126 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสกลนคร-พังโคน เมื่อถึงอำเภอพังโคนแล้วแยกขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 222 ถึงบ้านคำตากล้า จากนั้นแยกซ้ายเข้าเส้นทางหมายเลข 2324 ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นที่ผลิต และฝึกอาชีพในด้านการทอผ้าไหม และผ้าพื้นเมืองอื่น ๆ ตลอดจนการตีเหล็ก การแกะสลักไม้ ผ้าที่ทอจากศูนย์ฯนี้มีคุณภาพดีจึงเป็นที่นิยมของคนทั่วไป ทางศูนย์ฯ เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน
บ้านปั้นหม้อ อยู่ที่บ้านเชียงเครือ ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสกลนคร-นครพนม ทางหลวงหมายเลข 22 ชาวบ้านมีอาชีพนอกเหนือจากการทำนา คือ การปั้นภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น โอ่ง หม้อ ไห กระถาง เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถซื้อได้ในราคาย่อมเยาในบริเวณหมู่บ้าน และตลอดสองข้างทางที่เดินทางสู่หมู่บ้าน

หมู่บ้านทอผ้าบ้านวาใหญ่ บ้านดอนแดง ในเขตอำเภออากาศอำนวย ทางหลวงหมายเลข 2094 อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 75 กิโลเมตร ผ้าที่ทอนั้นมีทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม และผ้าขิด เป็นผ้าที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติที่ได้จากเปลือกไม้ และผลิตผลจากไม้ พร้อมทั้งมีฝีมือการทอที่ประณีตลวดลายสวยงาม

ของฝากจากสกลนคร
ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก (รหัสทางไกล 042)
กฤษดาไหมไทย ถ. เปรมปรีดา โทร. 711697 (จำหน่ายผ้าไหม, เสื้อสำเร็จรูป, ผ้าแพรวา, ผ้าตีนจก)
พุทธศิลป์ไหมไทย ถ. เปรมปรีดา โทร. 711548 (จำหน่ายผ้าไหม, เสื้อสำเร็จรูป, ผ้าฝ้าย)
มานะไหมไทย 746 ถ. สุขเกษม โทร. 711749 (จำหน่ายผ้าไหม, เสื้อสำเร็จรูป, ผ้าฝ้าย)
ราชาวดี ถ. ยุวพัฒนา โทร. 711548
รุ่งนภาไหมไทย ถ. ยุวพัฒนา โทร. 711238 (จำหน่ายผ้าไหม)
ศูนย์ผลิตภัณฑ์รวมภาคจังหวัดสกลนคร ถ. สุขเกษม
สดศรีไหมไทย 953/1 หน้าวัดพระธาตุเชิงชุม ถ. เจริญเมือง โทร. 711953 (ผ้าไหมมัดหมี่, ผ้าแพรวา)
สายทอง 493 ถ. เจริญเมือง โทร. 711152

0 ความคิดเห็น: