00:19

จังหวัดชัยภูมิ

" ชัยภูมิทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่ มีช้างหลาย
ดอกไม้งาม ลือนามวีรบุรุษ สุดยอดผ้าไหม พระใหญ่ทวาราวดี "


ข้อมูลทั่วไป :

ชัยภูมิ ตั้งอยู่บนสันขอบที่ราบสูงอีสาน ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับภาคกลางและภาคเหนือ เป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกกระเจียวแสนงาม และสายน้ำตกชุ่มฉ่ำยามหน้าฝน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มีเทือกเขาที่สำคัญได้แก่ ภูพังเหย ภูแลนคา ภูพญาฝ่อ อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำชี

ด้านประวัติศาสตร์ ชัยภูมิมีอารยธรรมซ้อนทับกันหลายสมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยขอม จนถึงอิทธิพลลาวล้านช้าง มีการค้นพบโบราณสถานโบราณวัตถุมากมายในหลายพื้นที่ของจังหวัด ต่อมาปรากฏชื่อเป็นเมืองหน้าด่านในสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระ นารายณ์มหาราช ภายหลังจึงร้างไป และมาปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีชาวเวียงจันทน์เข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง มีผู้นำชื่อ แล ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ

ชัยภูมิ เป็นเมืองที่เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมาคู่กับเมืองบุรีรัมย์ มาปรากฏชื่อทางประวัติศาสตร์อีกครั้ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีชาวเมืองเวียงจันทน์มีนายแลเป็นหัวหน้าพากันมาตั้งหลักปักฐานในบริเวณ ที่เรียกว่า โนนน้ำอ้อม และคงใช้ชื่อเมืองตามเมืองเดิมว่าชัยภูมิ ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ก่อการกบฎยกกองทัพเข้ามาตีเมืองนครราชสีมาและหัวเมืองรายทาง นายแลเจ้าเมืองชัยภูมิได้ยกไพร่พลไปสมทบกับกำลังของคุณหญิงโม ตีทัพของเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์แตกพ่ายไปได้ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี และให้นายแลเป็นพระยาภักดีชุมพล เจ้าเมืองชัยภูมิคนต่อมาที่สืบเชื้อสายมาจากพระยาภักดีชุมพล (แล) ก็ยังคงใช้ราชทินนามว่า พระยาภักดีชุมพล

ในปัจจุบัน ชัยภูมิเป็นจังหวัดที่น่าท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ผลิตภัณฑ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยภูมิคือ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย มัดหมี่ หมอนขิต ผ้าขิต และสินค้าเมืองที่ทำจากผ้าทอมือ เป็นต้น

การเดินทาง :

ทางรถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงสระบุรี แยกขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ที่อำเภอสีคิ้ว ผ่านอำเภอด่านขุนทด อำเภอจัตุรัส เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ 342 กิโลเมตร

อีกเส้นทางหนึ่ง คือ จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านสระบุรี ถึงแยกพุแค แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ถึงอำเภอชัยบาดาล จากนั้นเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 205 ผ่านอำเภอเทพสถิต อำเภอจตุรัส เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ

ทางรถไฟ
จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีรถด่วน รถเร็ว กรุงเทพฯ-หนองคาย บริการทุกวันโดยลงที่สถานีบัวใหญ่ จากนั้นสามารถต่อรถโดยสารประจำทางไปชัยภูมิอีก 51 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ แผนกบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 www.railway.co.th

ทางรถโดยสารประจำทาง
มีบริการเดินรถ กรุงเทพฯ-ชัยภูมิ ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 โทร. 0 2936 2852-66 สถานีขนส่งชัยภูมิ โทร. 0 4481 1493 บริษัท แอร์ชัยภูมิ โทร.0 4481 1556 นครชัยแอร์ โทร. 0 44 81 1739 ชัยภูมิจงเจริญ โทร. 0 4481 1780 ชัยภูมิทัวร์ โทร. 0 4481 6012 www.transport.co.th

การคมนาคมภายในตัวจังหวัด จ.ชัยภูมิ
จากสถานีขนส่งชัยภูมิมีรถโดยสารประจำทางไปกรุงเทพฯ เลย เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ขอนแก่น เพชรบูรณ์-หล่มสัก พิษณุโลก ชุมแพ บัวใหญ่ คอนสวรรค์ หนองบัวแดง เกษตรสมบูรณ์ บ้านเขว้า สมอทอด คอนสาร ลำนารายณ์ บ้านไผ่ ติดต่อสอบถามสถานีขนส่งชัยภูมิ โทร. 0 4481 1493

การเดินทางจากอำเภอเมืองชัยภูมิไปยังอำเภอต่าง ๆ
อำเภอเมือง - กิโลเมตร
อำเภอบ้านเขว้า 13 กิโลเมตร
อำเภอเนินสง่า 30 กิโลเมตร
อำเภอหนองบัวระเหว 35 กิโลเมตร
อำเภอคอนสวรรค์ 38 กิโลเมตร
อำเภอจัตุรัส 36 กิโลเมตร
อำเภอแก้งคร้อ 45 กิโลเมตร
อำเภอหนองบัวแดง 49 กิโลเมตร
อำเภอบำเหน็จณรงค์ 58 กิโลเมตร
อำเภอภูเขียว 76 กิโลเมตร
อำเภอบ้านแท่น 92 กิโลเมตร
อำเภอภักดีชุมพล 85 กิโลเมตร
อำเภอเกษตรสมบูรณ์ 102 กิโลเมตร
อำเภอเทพสถิต 105 กิโลเมตร
อำเภอคอนสาร 120 กิโลเมตร

อาณาเขตและการปกครอง :

ชัยภูมิอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 342 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 12,778 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 16 อำเภอ คือ อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอบ้านเขว้า อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอจัตุรัส อำเภอภูเขียว อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอบ้านแท่น อำเภอแก้งคร้อ อำเภอคอนสาร อำเภอเทพสถิต อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอภักดีชุมพล อำเภอเนินสง่า และอำเภอซับใหญ่

ทิศเหนือ จดจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดขอนแก่น
ทิศใต้ จดจังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันออก จดจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันตก จดจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดลพบุรี

แผนที่จังหวัดชัยภูมิ

แผนที่ตัวเมืองชัยภูมิ



ที่เที่ยว
อุทยานแห่งชาติตาดโตน
ข้อมูลทั่วไป :

อุทยาน แห่งชาติตาดโตนตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง ทางทิศเหนือของจังหวัดชัยภูมิ ลักษณะทางธรณีวิทยาประกอบด้วยหินปูนและหินดินดาน โดยเฉพาะบริเวณน้ำตกตาดโตน ประกอบด้วยลานหินที่กว้างใหญ่และสวยงาม ป่าไม้เป็นป่าจำพวกป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง

อุทยานแห่งชาติตาดโตน มีเนื้อที่ประมาณ 217.18 ตารางกิโลเมตร หรือ 134,737.50 ไร่

การเดินทาง :

จากตัวจังหวัดชัยภูมิเดินทางไปทางทิศเหนือ ตามทางหลวงหมายเลข 2051 จากตัวเมืองถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ถนนราดยางตลอดสาย

สิ่งอำนวยความสะดวก :

ผู้ประสงค์จะเข้าพักในบริเวณอุทยานฯ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและจองบ้านพักล่วงหน้าได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 579-7223, 5795734

ลักษณะภูมิประเทศ :

อุทยานแห่งชาติตาดโตน มีพื้นที่อยู่บนเทือกเขาภูแลนคา มีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 4 ของเทือกเขาภูแลนคา โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงมีเทือกเขาล้อมรอบที่ราบเอาไว้ ตอนกลางเป็นหุบเขากว้างใหญ่ เทือกเขาที่ล้อมรอบนี้ประกอบไปด้วย ภูเกษตร ภูดี ภูหยวก เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นน้ำต้นกำเนิดของน้ำตกตาดโตน โดยจะไหลมารวมกันเป็นห้วยปะหางและไหลผ่านตัวอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

ลักษณะภูมิอากาศ : สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติตาดโตน แบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ
ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม อากาศค่อนข้างร้อน ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวน้ำตก
ฤดูฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน น้ำตกตาดโตนจะมีน้ำมากดูสวยงาม
ฤดูหนาว ระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคม อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม เฉลี่ยประมาณ 13 องศาเซลเซียส

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า :

สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบแล้ง ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่บริเวณริมน้ำลำธาร หุบเขาและยอดเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มะเกลือ ตะเคียนหนู ตะเคียนทอง และตะแบก เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งเป็นป่าเต็งรัง ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณเทือกเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง พลวง กระบก และกระโตน ส่วนไม้พื้นล่างที่สำคัญได้แก่ หญ้าเพ็ก และลูกไม้ต่างๆ

สัตว์ป่าส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่ กระรอก กระแต นกชนิดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันนักกับอุทยานแห่งชาติตาดโตน

จุดเด่นที่น่าสนใจ :

น้ำตกตาดโตน
เป็นจุดเด่นที่สำคัญที่สุดของอุทยานฯ เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชัยภูมิ ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศเหนือ 21 กิโลเมตร มีทางลาดยางจนถึงตัวน้ำตก ด้านบนของตัวน้ำตกเป็นลานหินกว้างประมาณ 50 เมตร และยาวไปตามลำน้ำประมาณ 300 เมตร ทำให้น้ำไหลลาดมาตามลานหิน มีแอ่งที่สามารถเล่นน้ำได้เป็นจุดๆ และไหลลงมาตกที่หน้าผาเป็นน้ำตกตาดโตนซึ่งมีความสูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 50 เมตร ในฤดูฝนน้ำตกจะมีน้ำมากเต็มหน้าผา นักท่องเที่ยวนิยมเล่นน้ำที่นี่เพราะไม่ลึกและมีความปลอดภัย ที่ทำการอุทยานฯก็ตั้งอยู่ใกล้กับตัวน้ำตกแห่งนี้

ศาลเจ้าพ่อตาดโตน (ศาลปู่ด้วง)
อยู่ที่บริเวณน้ำตกตาดโตน เป็นที่เลื่อมใสและเคารพสักการะของชาวจังหวัดชัยภูมิ เนื่องจากปู่ด้วงเป็นคนรุ่นเดียวกันกับเจ้าพ่อพระยาแล(เจ้าเมืองคนแรกของ จังหวัดชัยภูมิ) แต่ปู่ด้วงท่านชอบใช้ชีวิตสันโดษ ชอบความสงบ เที่ยวเดินไปในป่าตลอดเทือกเขาแลนภูคา และมีความรู้ในเรื่องสมุนไพร ช่วยเหลือชาวบ้านที่ป่วยไข้ ประกอบกับใช้ความรู้ในทางเวทมนตร์คาถา จนเป็นที่เลื่องลือเลื่อมใสของชาวบ้าน แม้ท่านจะเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ศรัทธาของชาวบ้านยังคงมีอยู่

น้ำตกตาดฟ้า
เป็นน้ำตกขนาดเล็กอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเขตอุทยานฯ ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิประมาณ 23 กิโลเมตร เดินทางไปตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 201 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ถึงบ้านไทรงาม แล้วแยกซ้ายมือไปตามถนน ร.พ.ช.ซึ่งเป็นทางลูกรัง ถึงบ้านนาวังแก้ว แยกขวามือไปน้ำตกระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

ผาเกิ้งและพระพุทธชัยภูมิพิทักษ์
เป็นจุดสูงสุดของถนนสายชัยภูมิ-อำเภอหนองบัวแดง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 27 เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมาก มองไปทางทิศเหนือจะเห็นตัวอำเภอหนองบัวแดงและเทือกเขาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าภูเขียว ที่บริเวณผาเกิ้งจะมีพระพุทธรูปคู่เมืองจังหวัดชัยภูมิ ปางห้ามญาติสูงประมาณ 14 ศอก หันหน้าไปทางหน้าผาทิศเหนือ


อุทยานแห่งชาติไทรทอง
ข้อมูลทั่วไป :

อุทยาน แห่งชาติไทรทอง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิประมาณ 70 กิโลเมตร(ห่างจากอำเภอหนองบัวระเหวประมาณ 37 กิโลเมตร) ไปตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 225 สายจังหวัดชัยภูมิ-นครสวรรค์

บริเวณที่กำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติคือเทือกเขาพัง เหย ประกอบด้วยป่าสงวนแห่งชาติป่านายางกลัก และป่าเตรียมการสงวนฯตามมติคณะรัฐมนตรี ป่าหมายเลข 10 แปลง 1

การเดินทาง :

ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิประมาณ 70 กิโลเมตร(ห่างจากอำเภอหนองบัวระเหวประมาณ 37 กิโลเมตร) ไปตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 225 สายจังหวัดชัยภูมิ-นครสวรรค์

สิ่งอำนวยความสะดวก :

อุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้จัดที่พักไว้บริการนักท่องเที่ยวดังนี้
- บ้านรับรอง 1 ขนาด 4 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พักได้ 30 คน
- บ้านรับรอง 2 ขนาด 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พักได้ 20 คน
- บ้านรับรอง 3 ขนาด 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พักได้ 20 คน
- บ้านรับรองหลังสัน ขนาด 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พักได้ 20 คน
- ศาลาประชุม(มุงหญ้าคา) 1 หลัง จุคนได้ 80-100 คน
- เต็นท์พัก 2 คน จำนวน 40 เต็นท์

ติดต่อได้ที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ตู้ปณ. 1 อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ 36250 หรือที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 579-5734 , 579-7223

ลักษณะภูมิประเทศ :

บริเวณที่กำหนด ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำห้วยโปร่งขุนเพชร ลำห้วยเชียงทา ลำห้วยแย้ ลำห้วยยาง ลำน้ำเจา ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า :

บริเวณเชิงเขาด้านทิศใต้ เป็นป่าเต็งรัง
บริเวณร่องห้วยและยอดเขา เป็นป่าดิบแล้ง
บริเวณที่ลาดชันด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก เป็นป่าเต็งรัง ผสมป่าเบญจพรรณ ซึ่งมีไม้ไผ่รวกเป็นจำนวนมาก

จุดเด่นที่น่าสนใจ :

น้ำตกไทรทอง
อยู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ สูงประมาณ 5 เมตร กว้าง 80 เมตร มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่หน้าน้ำตกสามารถลงเล่นน้ำได้ เหนือน้ำตกขึ้นไปมีวังน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า "วังเงือก" แล้วไหลลงตามความลาดชันของลานหินลงสู่น้ำตกไทรทอง ยาวประมาณ 150 เมตร

น้ำตกชวนชม
อยู่เหนือน้ำตกไทรทองขึ้นไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตามทางเดินศึกษาธรรมชาติ สูงประมาณ 20 เมตร กว้าง 50 เมตร อยู่ภายใต้ร่มไม้ที่ร่มรื่น

ทุ่งบัวสวรรค์ (ทุ่งดอกกระเจียว)
มีทั้งดอกสีชมพูและดอกสีขาว อยู่บริเวณสันเขาพังเหยด้านทิศตะวันตก ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 10 กิโลเมตร จะออกดอกสวยงามเต็มทุ่งประมาณปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนสิงหาคมของทุกปี ทางอุทยานแห่งชาติไทรทองจัดให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คือจัดเจ้าหน้าที่นำทางพานักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปตั้งแคมป์พักแรมบนทุ่งบัว สวรรค์

จุดชมวิวเขาพังเหย
อยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225(สายจังหวัดชัยภูมิ-นครสวรรค์) ประมาณกิโลเมตรที่ 70 เป็นที่แวะพักรถยนต์และชมวิวข้างทางด้านอำเภอภักดีชุมพล

จุดชมวิวหลังสัน
เป็นจุดสูงสุดของเทือกเขาพังเหย สูงจากระดับน้ำทะเล 1,008 เมตร อากาศหนาวเย็นตลอดปี มีสถานที่กางเต้นท์พักแรมและบ้านรับรอง เพื่อสัมผัสความหนาวเย็นของอากาศ

น้ำตกคลองไทร
เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้านอำเภอภักดีชุมพล น้ำตกเป็นชั้นๆเล็กๆภายใต้ร่มไม้ที่ร่มรื่น จะมีน้ำมากในช่วงฤดูฝน


อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม

ข้อมูลทั่วไป :

ทุ่งดอกกระเจียว เปรียบเสมือนเป็นราชินีแห่งมวลดอกไม้ของขุนเขาแห่งนี้ ที่ทุกคนตั้งใจมาดู มาชมความงามตระการตา ดอกสีชมพูอมม่วงที่ดารดาษไปทั้งผืนป่า ตัดกับสีเขียวขจีของหญ้าเพ็กและโขดหิน ประดุจเทพจากสรวงสวรรค์ประทานให้กับแผ่นดินที่นี่ เป็นทุ่งดอกกระเจียวที่ใหญ่ที่สุดและงดงามที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้

อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 270 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดชัยภูมิประมาณ 100 กิโลเมตร

การเดินทาง :

การเดินทางสู่ อุทยานแห่งชาติป่าหินงามนับว่าค่อนข้างสะดวก โดยเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดสระบุรีไปยังสามแยกพุแค แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ไปยังบ้านลำนารายณ์ จากนั้นเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 205 เส้นทาง ลำนารายณ์-ลำสนธิ-เทพสถิต-หนองบัวโคก-นครราชสีมา เดินทางจากบ้านลำนารายณ์ประมาณ 48 กิโลเมตร ก่อนถึงที่ทำการอำเภอเทพสถิตประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปอำเภอหนองบัวระเหว ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2354 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตรถึงทางแยกซ้ายมือเข้าบ้านไร่ ใช้ระยะทางอีกประมาณ 14 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม

ระยะทาง
สระบุรี-ลำนารายณ์ 92 กิโลเมตร
ลำนารายณ์-เทพสถิต 48 กิโลเมตร
เทพสถิต-อุทยานฯ 29 กิโลเมตร


สิ่งอำนวยความสะดวก :

อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ได้จัดเตรียมสถานที่สำหรับกางเต็นท์พักแรมไว้ให้บริการ ที่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ และที่บริเวณด่านตรวจ

ติดต่อขอรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตู้ ปณ.2 ปทจ.เทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ 36230 โทร.(01)930-7581

จุดเด่นที่น่าสนใจ :

ลานหินงาม
เป็นลานหินที่มีรูปร่างแปลกในพื้นที่กว่า 10 ไร่ เกิดจากการกัดเซาะเนื้อดินและหินในส่วนที่จับตัวกันอย่างเบาบางหลุดออกไป นานวันเข้าจึงเกิดโขดหินที่มีรูปลักษณ์แตกต่างกันมองดูสวยงามเป็นที่ อัศจรรย์ สำหรับลานหินงามนี้อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ทำการอุทยานฯ มีทางรถยนต์เข้าถึง

จุดชมวิวสุดแผ่นดิน
เป็นหน้าผาสูงชันและเป็นจุดที่สูงที่สุดของเทือกเขาพังเหยซึ่งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม สูงประมาณ 846 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เกิดจากการยกตัวของพื้นที่เป็นที่ราบสูงอีสาน จึงเป็นรอยต่อระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ทำให้เรียกบริเวณนี้ว่า "สุดแผ่นดิน" ณ จุดนี้จะเห็นทิวทัศน์ของสันเขาพังเหยและเขตพื้นที่ป่าของเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าซับลังกา จุดชมวิวนี้อยู่ทางด้านทิศเหนือของที่ทำการอุทยานฯระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

ทุ่งดอกกระเจียว
กระเจียวเป็นพืชล้มลุกประเภทหัว เป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นที่ขึ้นมากที่สุดในประเทศไทย ณ ที่แห่งนี้ ปกติจะพบขึ้นกระจายทั่วไปตั้งแต่ลานหินงามจนถึงจุดชมวิวสุดแผ่นดิน 1 กิโลเมตร ดอกกระเจียวจะขึ้นและบานเป็นสีชมพูอมม่วงในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น คือเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปี

ดอกกระเจียว กระเจียวบัว ปทุมมาหรือบัวสวรรค์
เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันติดปาก เป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นที่ขึ้นมากที่สุดในประเทศไทยที่อุทยานฯแห่งนี้ ปกติจะขึ้นปะปนกับหญ้าเพ็กซึ่งเป็นไม้พื้นล่างของป่าเต็งรังหรือป่าโคกที่มี ต้นไม้ใหญ่ขึ้นห่างๆสลับกับหิน ส่วนใหญ่จะมีไม้เหียงเป็นไม้เด่นกระจายอยู่ทั่วไป ตั้งแต่ลานหินงามจนถึงจุดชมวิว"สุดแผ่นดิน" ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังพบกระเจียวชนิดนี้ที่อุทยานแห่งชาติไทรทองอำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งอยู่ในแนวสันเขาพังเหยเดียวกัน

ในทางวิชาการหรือทางพฤกษศาสตร์ ดอกกระเจียวเป็นพืชในสกุลขมิ้น อยู่ในวงขิง ข่า ขมิ้น เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว พืชในสกุลนี้มีไม่น้อยกว่า 65 ชนิด พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเซีย จนถึงทวีปอาฟริกา มีอยู่ประมาณ 30 ชนิดที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ตามภาคต่างๆของประเทศไทย พืชในสกุลนี้จะมีเหง้าช่วยสะสมน้ำและอาหารอยู่ใต้ดิน มีลำต้นสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน และมีลำต้นเทียมอยู่เหนือพื้นดิน ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง ลำต้นเทียมสูงประมาณ 20 ซม. กาบใบสีเขียว โคนสีแดง ก้านใบยาวประมาณ 10 ซม.ใบเป็นรูปรีค่อนข้างแคบ แผ่นใบเรียบไม่มีขน บริเวณเส้นกลางใบอาจมีสีแดง ดอก ช่อดอกเกิดจากปลายลำต้นเทียม ก้านช่อดอกยาวประมาณ 50 ซม. ดอกสีขาวปากสีม่วง ใบประดับส่วนบนสีชมพูม่วงหรือแดงเข้ม

พืชสกุลขมิ้นนี้นักพฤกษศาสตร์ได้แบ่งออกเป็นสองสกุลย่อย ตามลักษณะของใบประดับ ช่อดอกและอับเรณู โดยจะถือสีของปากเป็นหลัก

1.สกุลย่อย Pcurcuma หรือกลุ่มกระเจียว มีลักษณะเด่นคือ ไม่มีสีกลุ่มม่วงแดง ปากมักจะมีสีขาวหรือเหลือง ช่อดอกเกิดจากเหง้าและเกิดจากตายอดของลำต้น

2.สกุลย่อย Paracurcuma หรือกลุ่มปทุมมา มีลักษณะเด่นคือ สีกลุ่มม่วงแดงที่ปาก ช่อดอกเกิดจากตายอดของลำต้นเทียม

ดังนั้น ถ้าดูจากการแบ่งกลุ่มแล้ว "กระเจียว"ที่เราเรียกกัน ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงามนี้ ก็จะไม่ตรงกับการแบ่งกลุ่มของนักพฤกษศาสตร์ ซึ่งที่ถูกต้องจะต้องเรียกว่า "ปทุมมา" แต่นั่นก็เป็นเรื่องของแวดวงวิชาการ ที่ได้ค้นคว้านำเสนอมาให้ทราบ

กระเจียวชนิดที่รับประทานได้ที่ชัยภูมิ

กระเจียวเป็นเพชรเม็ดงาม มีธรรมชาติสร้างสรรให้คนชัยภูมิได้พิจารณาเจียรนัย และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าอย่างยั่งยืนนานเท่านาน เท่าที่คนชัยภูมิจะช่วยกันอนุรักษ์ดูแลและพัฒนา ดอกกระเจียวเป็นไม้ดอกที่มีความสวยงามแปลกตา มีสีสันสดใส ดอกมีความสวยงามและคงทนอยู่เป็นเวลานาน สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็น มีศักยภาพในการใช้เป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง ตลอดจนปลูกเป็นแปลงที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการพัฒนาพันธุ์เพื่อส่งออก ทำให้ในปัจจุบันเป็นไม้ดอกที่ได้รับความนิยม ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เฉพาะในตลาดต่างประเทศประมาณกันว่ามีความต้องการไม่ต่ำกว่า 2 ล้านเหง้าต่อปี ซึ่งประเทศไทยได้ส่งดอกและเหง้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ ทำรายได้ให้ประเทศไทยในแต่ละปีเป็นมูลค่าหลายล้านบาท โดยเฉพาะในประเทศเนเธอร์แลนด์ ดินแดนแห่งดอกทิวลิป ชาวต่างชาติที่พบเห็นดอกกระเจียวต่างเรียกว่า "ทิวลิปออฟไซแอม"หรือ "สยามทิวลิป"

อันที่จริง จังหวัดชัยภูมิ มีดอกกระเจียวขึ้นอยู่ตามธรรมชาติหลายชนิด ทั้งที่รับประทานได้และไม่ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและรวบรวมพันธุ์ และอาจจะมีศูนย์รวบรวมพันธุ์พืชดอกกระเจียวที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นที่จังหวัด ชัยภูมิ ในอนาคตคาดว่าดอกกระเจียวจะเป็นไม้ดอกที่สำคัญที่เป็นสัญญลักษณ์ของประเทศ ไทย ที่ชาวต่างชาติจะมาเที่ยวเมืองไทยเพื่อชื่นชมความงาม เช่นเดียวกับดอกทิวลิปของประเทศเนเธอร์แลนด์ก็เป็นได้

อุทยานแห่งชาติภูแลนคา
ข้อมูลทั่วไป :

อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านเขว้า อำเภอหนองบัวแดง และอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่ 110,625 ไร่ หรือ 177 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน พื้นที่ลาดชัน พื้นที่ลาดเอียง พื้นที่หน้าผาสูงสลับหุบเขา และเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่ก่อกำเนิดลำห้วยน้อยใหญ่มากมายซึ่งเป็นสาขา หนึ่งของ แม่น้ำชี

การเดินทาง :

ระยะทางจากจังหวัดชัยภูมิ ถึงอำเภอหนองบัวแดง 26 กิโลเมตร และระยะทางจากอำเภอหนองบัวแดง ถึง สำนักงานอุทยานแห่งชาติภูแลนคา 17 กิโลเมตร สภาพถนนส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยาง

สิ่งอำนวยความสะดวก :

อุทยานแห่งชาติภูแลนคา มีสถานที่ให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักแรมได้กางเต้นท์ จำนวน 5 แห่ง พักได้ทั้งหมด 50 คน พร้อมสวัสดิการต่างๆของอุทยานฯ

หรือติดต่อสอบถามได้ที่งานบริการบ้านพักฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมาย ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 5797223 , 5614292-4 ต่อ 724 , 725

ลักษณะภูมิประเทศ :

ภูมิประเทศโดยทั่วไปพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนเทือกเขาภูแลนคา ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นพื้นที่ลาดชันสูง เป็นพื้นที่ลาดเอียง เป็นพื้นที่หน้าผาสูงสลับหุบเขา และเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ก่อกำเนิดลุ่มน้ำต่างๆ เช่น ลุ่มน้ำชีล่างลุ่มน้ำห้วยสิ่ว ลุ่มน้ำห้วยซับปีเส็ง ลุ่มน้ำห้วยหินดาด ลุ่มน้ำห้วยเดื่อ ฯลฯ สูงจากระดับน้ำทะเล 300 - 900 เมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ มีความลาดชันตั้งแต่ 35% ขึ้นไป มีอาณาเขตติดต่อกับ

ทิศเหนือ จด พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.)
ทิศใต้ จด พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.)
ทิศตะวันออก จด ลำห้วยกุดทิวหรือห้วยช้างซ่อม
ทิศตะวันตก จด แม่น้ำลี และพื้นที่ชลประทาน ท้องที่ตำบลภูแลนคา

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า :

พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคาเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่อยู่ในเทือกเขาภูแลน คา ประกอบไปด้วยป่าสงวนแห่งชาติภูแลนคา ด้านทิศเหนือเนื้อที่ 79,357 ไร่ หรือ 127 ตารางกิโลเมตร และป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคาด้านทิศใต้ เนื้อที่ 31,250 ไร่ หรือ 50 ตารางกิโลเมตรสภาพพื้นที่เป็นป่าทึบและป่าโปร่ง เพราะมีเรือนยอดของพรรณไม้นานาชนิดปกคลุมแตกต่างกันไปตามสภาพ พื้นที่สภาพเป็นป่าดิบแล้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ ป่าหญ้าและมีพรรณไม้ เช่น เต็ง มะค่าโมง แดง ส้าน มะเกลือ รังพลวง เหียง เป็นต้น ส่วนสัตว์ป่าจะมีประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก นก แมลง ปลาน้ำจืด เช่น หมูป่า อีเห็น งู ลิง กระรอก นกเหยี่ยว แมลงทับ กบ เป็นต้น

จุดเด่นที่น่าสนใจ :

อุทยานแห่งชาติภูแลนคา มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายหลายที่ด้วยกันในอดีต เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร (ประวัติทางการสู้รบ) และประวัติศาสตร์ของศาลปู่ด้วง (บุคคลทรงศีล)

สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ มีดังนี้

ป่าหินงามจันทร์แดง
เป็นลานหินกว้างที่มีก้อนหินรูปร่างลักษณะแปลกวิจิตรพิศดารต่างๆจำนวนมาก โดยมีต้น จันทร์แดงเจริญเติบโตบนโขดก้อนหินใหญ่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ และในการเดินทางต้องเดินทางด้วยทางเท้า และใช้เวลามาก

ป่าหินงามปราสาท
เป็นลานหินกว้างที่สลับกับป่าเต็งรัง โดยมีก้อนหินจำนวนมากที่มีรูปร่างลักษณะวิจิตรพิศดารตาม สภาพการผันแปรของธรรมชาติ แต่จะมีก้อนหินขนาดใหญ่มากรูปร่างคล้ายปราสาทเป็นลักษณะเด่นและเอกลักษณ์ของ พื้นที่และ ในการเดินทางจะต้องเดินทางด้วยเท้า

ป่าหินงามหงษ์ฟ้า
เป็นป่าหินงามที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติลักษณะพื้นที่จะมีก้อนหินจำนวนมาก ที่มีรูปร่างลักษณะแปลกๆ

ลานหินแตก
เป็นลานหินที่เกิดขึ้นบนสันเขาภูคำน้อย ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนหินที่แตกเป็นร่องลึกจำนวนมากและ ทอดยาวตามแนวสันเขา และลานหินแตกยังเป็นจุดชมวิวทัศนียภาพทางธรรมชาติเทือกเขาภูเขียว อำเภอหนองบัวแดง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ รวมทั้งมีสภาพอากาศหนาวเย็นมาก ตามฤดูกาล

ภูคี
เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,038 เมตรเป็นยอดภู ที่สูงที่สุดของพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ซึ่งสามารถมองเห็นภูมิประเทศและบรรยากาศภูหยวก ภูตะเภาเทือกเขาภูเขียว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และมีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีพันธ์ไม้ป่า และสัตว์ป่าจำนวนมาก เป็นพื้นที่ที่เชื่อมติดต่อกันระหว่างอำเภอเกษตรสมบูรณ์กับอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และเป็นพื้นที่ที่มีตำนานประวัติเล่าสืบทอดกันมานาน

ภูเกษตร
เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูแลนคา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 966 เมตร เป็นยอดภูที่สูงเป็นอันดับสองรองจากภูคีของพื้นที่อุทยานภูแลนคา ซึ่งสามารถมองเห็นภูมิประเทศและบรรยากาศของภูคี ภูอ้ม ภูคล้อ ภูกลางเทือกเขาภูเขียว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่ที่มีภูมิประเทศ หนาวเย็นและแห้งแล้งเพราะสภาพพื้นที่ป่าไม้บนยอดภูถูกทำลายมาก จากการบุกรุกพื้นที่ของราษ?รและกลายเป็นไร่ร้างเป็น พื้นที่กว้างใหญ่มากบนเทือกเขาภูแลนคา

ทุ่งดอกกระเจียว
เป็นพื้นที่ป่าเต็งรังที่มีต้นกระเจียวเกิดขึ้น และเจริญเติบโตจำนวนมาก ซึ่งเป็นพรรณไม้ป่า โดยเกิดขึ้นตามซอกหินสลับกับต้นไม้นานาชนิด และผลิตออกดอกสีชมพู-ขาว สวยงาม ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรก?าคม ของทุกปี และในการเดินทางต้องเดินทางด้วยทางเท้า ทุ่งดอกกระเจียวเป็นพื้นที่ป่าเต็งรังที่มีต้นกระเจียวเกิดขึ้นและ เจริญเติบโตจำนวนมาก ซึ่งเป็นพรรณไม้ป่าโดยเกิดขึ้นตามซอกหินสลับกับต้นไม้นานาชนิด และผลิตออกดอกสีชมพู-ขาว สวยงาม ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรก?าคม ของทุกปี และในการเดินทางต้องเดินทางด้วยทางเท้า

ประตูโขลง
เป็นลักษณะก้อนหินขนาดใหญ่ ที่มีรูปร่างคล้ายซุ้มประตูหิน และเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่ป่าหินงาม พื้นที่รอบๆ ประตูโขลง จะมีก้อนหินที่มีลักษณะแปลกพิศดารจำนวนมากสลับกับสภาพป่าเต็งรัง และในการเดินทางต้อง เดินทางด้วยทางเท้า

ผาเกิ้ง
เป็นหน้าผาที่มีลักษณะเป็นก้อนหินใหญ่ยื่นออกไปจากพื้นดิน ซึ่งอยู่ติดกับแนวเขตวัดชัยภูมิพิทักษ์และอยู่ ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2159 เป็นสถานที่จุดชมวิวทัศนียภาพทางธรรมชาติสภาพป่าภูแลนคาอำเภอหนองบัวแดง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และสภาพเส้นทางหลวงจังหวัดที่ตัดผ่านพื้นที่ป่าและลดหลั่นไปตามไหล่เขา

ผาเพ
เป็นผาหินขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการยกตัวสูงขึ้นของชั้นหินและการไหลเลื่อน ของหินแร่ ซึ่งปรากฏเห็น เป็นเนื้อสีหินแร่ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด และบริเวณโดยรอบถูกปกคลุมด้วยพรรณไม้นานาชนิด และในการเดินทางต้อง เดินทางด้วยทางเท้า

ผากล้วยไม้
เป็นลักษณะหน้าผาสูงที่มีพรรณไม้ป่าประเภทกล้วยไม้เกิดขึ้น และเจริญเติบโตจำนวนมาก โดยเ?พาะ ในช่วงฤดูฝนและต้นฤดูหนาว จะเป็นช่วงกล้วยไม้ผลิตดอกออกผลสีสันสวยงามมาก และบริเวณผากล้วยไม้ยังเป็นจุดชมวิว ทัศนียภาพทางธรรมชาติ

ถ้ำพระและถ้ำเกลือ
เป็นลักษณะถ้ำหินทรายขาวที่เกิดขึ้นจากการกัดเซาะของน้ำที่ไหลลอดไปตามซอก หินและเกิด ปฏิกิริยาทางเคมีเป็นเวลานาน ประกอบกับการผันแปร และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของชั้นหินทรายจนเกิดเป็น โพรงขนาดใหญ่และสามารถเดินเข้าไปในถ้ำได้ ซึ่งแต่ละถ้ำจะมีลักษณะเด่นแตกต่างกันตามสภาพการผันแปร และในการ เดินทางต้องเดินทางด้วยทางเท้า

น้ำตกตาดหิน
เป็นน้ำตกที่เกิดขึ้นจากลำห้วยตาดหินดาด ที่มีลักษณะเป็นน้ำตกที่ไหลผ่านตาดหินยาวประมาณ 80 ม. ซึ่งจะมีปริมาณน้ำมากน้อยตามฤดูกาล และในการเดินทางต้องเดินทางด้วยทางเท้า

เขาขาดและแม่น้ำชี
เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติของเทือกเขา โดยเกิดขึ้นจากการยุบตัวและยกตัวของ เทือกเขาภูแลนคากับเทือกเขาพังเหย กลายเป็นช่องเขาขาด และมีตำนานเล่าสืบต่อกันมานาน ส่วนแม่น้ำชีเป็นแม่น้ำสายหลัก ของจังหวัดชัยภูมิ ที่ไหลผ่านพื้นที่บ้างส่วนของอุทยานแห่งชาติภูแลนคา เป็นผลให้เกิดทัศนียภาพทางธรรมชาติและทิวทัศน์ สองฝั่งแม่น้ำชี

อุทยานแห่งชาติภูแลนคา เหมาะสมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี

เขื่อนจุฬาภรณ์

ข้อมูลทั่วไป :

เขื่อนจุฬาภรณ์ ซึ่งมีชื่อเรียก ในสมัยก่อสร้าง ว่า "โครงการน้ำพรม" เป็นโครงการ พัฒนาไฟฟ้า พลังน้ำ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างปิดกั้น ลำน้ำพรม บนเทือกเขา ขุมพาย บริเวณที่เรียกว่า ภูหยวก ในท้องที่ ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

เขื่อนจุฬาภรณ์ ช่วยส่งเสริมให้ ระบบการผลิต และการส่งกระแสไฟ้ฟ้า ในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ มีความมั่นคง ยิ่งขึ้น กิจการต่างๆ ที่ต้องอาศัย ไฟฟ้า ประกอบการ ก็จะเกิดขึ้น หรือขยายออกไป เป็นการช่วย พัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชน เขื่อนแห่งนี้ จึงอำนวยประโยชน์ ให้แก่ประชาชน อย่างแท้จริง

ลักษณะเขื่อน :

ตัวเขื่อน
เป็นแบบหินถม แกนกลางเป็นดินเหนียวบดอัดทับ แน่นด้วยกรวดและหิน มีความยาวตามสันเขื่อน ๗๐๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๘ เมตร ฐานกว้าง ๒๕๐ เมตร ความสูง จากฐานราก ๗๐ เมตร ความจุ ของอ่างเก็บน้ำ ๑๘๘ ล้านลูกบาศก์เมตร

โรงไฟฟ้า
ตั้งอยู่ ตรงเชิงเขา ใกล้กับลำน้ำสุ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่ง ของตัวเขื่อน แล้วชักน้ำหน้าเขื่อน จากฝั่งซ้าย ของลำน้ำ โดยผ่านอุโมงค์ ซึ่งเจาะทะลุภูเขา ไปหมุนเครื่องกังหันน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาอีก ด้านหนึ่ง ภายในโรงไฟฟ้า ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด ๒๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ จำนวน ๒ ชุด

ลานไกไฟฟ้า
ตั้งอยู่บริเวณข้างอาคารโรงไฟฟ้า ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับระบบสายส่งไฟฟ้า ขนาด ๑๑๕ กิโลวัตต์ จากเขื่อน ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูง ชุมแพ-ขอนแก่น ๑ ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร โครงการน้ำพรม ได้รับอนุมัติ จากคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๑๒ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้เริ่ม ดำเนินการก่อสร้าง เขื่อน และโรงไฟฟ้า เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๑๓ แล้วเสร็จ สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม ๒๕๑๕ เป็นต้นมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จ พระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ไปทรงเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๑๖ พร้อมทั้ง ได้พระราชทาน พระนามสมเด็จพระเจ้า ลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ มาขนานนามชื่อเขื่อนว่า "เขื่อนจุฬาภรณ์"

ต่อมาในปี ๒๕๓๕ กฟผ. ได้สร้างเขื่อนขนาดเล็กชื่อ "เขื่อนพรมธารา" ขึ้นทางฝั่งซ้าย ของเขื่อนจุฬาภรณ์ ห่างออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร เพื่อนำน้ำ มาลงในอ่างเก็บน้ำ จุฬาภรณ์ ได้เพิ่มขึ้น ปีละประมาณ ๒ ล้านลูกบาศก์เมตร

ประโยชน์ :

เขื่อนจุฬาภรณ์ เป็นเขื่อนที่มีความสำคัญมาก อีกเขื่อนหนึ่ง ต่อการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า ในภาคตะวันออก เฉียงเหนือ จากการผลิตพลังงานไฟฟ้า ด้วยพลังน้ำเฉลี่ยปีละ ๙๕ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสามารถตอบสนอง ความต้องการ ของประชาชน ได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัย ในบริเวณทุ่งเกษตรสมบูรณ์ ซึ่งอยู่ห่าง จากเขื่อนลงไป ทางท้ายน้ำ ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร

นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำ ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด อีกแห่งหนึ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้ง บริเวณที่ตั้งของเขื่อน มีทิวทัศน์สวยงามมาก และอากาศเย็นสบาย ตลอดปี จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง ในภูมิภาคนี้


การเดินทาง :

ชัยภูมิ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ เกือบกึ่งกลาง ของประเทศ ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๓๔๐ กิโลเมตร การเดินทาง ใช้ทางหลวง หมายเลข ๑ กรุงเทพฯ - สระบุรี แล้วเลี้ยวขวา ไปใช้ทางหลวง หมายเลข ๒ เมื่อถึงอำเภอสีคิ้ว จึงเลี้ยวซ้าย เข้าทางหลวง หมายเลข ๒๐๑ จนถึงอำเภอชุมแพ แล้วเลี้ยวซ้าย ไปตามเส้นทาง สู่อำเภอ หล่มสัก จะพบทางแยก ซ้ายมือ เข้าสู่เขื่อนจุฬาภรณ์ ระยะทาง ๓๙ กิโลเมตร

สิ่งอำนวยความสะดวก :

เมื่อเดินทางถึงเขื่อนจุฬาภรณ์ ท่านสามารถติดต่อสอบถาม รายละเอียดต่างๆ ได้จากเจ้าหน้าที่ ซึ่งทาง เขื่อนได้จัดบริการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ รักษาความปลอดภัย ที่คอยต้อนรับ และอำนวยความสะดวกแก่ ผู้มาเยี่ยมชมและพักแรม อย่างเต็มที่

การสำรองที่พัก
รายละเอียดบ้านพักรับรอง สามารถรับรองแขกได้ประมาณ 98 คน ประกอบด้วยบ้านเดี่ยว บ้านแถว ซึ่งราคาค่าที่พักต่อคนมีตั้งแต่คนละ 150-1,000 บาท และบ้านเดี่ยวเปิดพักได้ 12 คน มี 2 หลังๆ ละ 2,000 บาทต่อคืน ผู้สนใจสามารถจองที่พัก อาหาร การบรรยายสรุปและฉายสไลด์ พร้อมทั้งจองเรือเพื่อชมบริเวณอ่างเก็บน้ำได้ที่ ส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย จังหวัดนนทบุรี โทร. 424-4794, 436-3179

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง :
จังหวัดชัยภูมิ มีสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจ อีกมากมาย นอกเหนือจาก เขื่อนจุฬาภรณ์ อาทิ อนุสาวรีย์ พระยาภักดีชุมพล(แล) ศาลเจ้าพ่อพระยาแล ปรางค์กู่ วนอุทยานน้ำตกตาดโตน ป่าหินงาม เป็นต้น


อ.เมือง

อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล)
ประดิษฐานอยู่ตรงวงเวียนศูนย์ราชการ ปากทางเข้าสู่ตัวเมืองชัยภูมิ อนุสาวรีย์แห่งนี้ชาวจังหวัดชัยภูมิได้ร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นการระลึก ถึงพระยาภักดีชุมพล ผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิ ซึ่งชาวชัยภูมิทั้งหลายเรียกท่านว่า “เจ้าพระยาแล”

ศาลเจ้าพ่อพระยาแล
ตั้งอยู่ริมหนองปลาเฒ่า ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ ประมาณ 3 กิโลเมตร แยกเข้าไปจากถนนใหญ่สายชัยภูมิ-บ้านเขว้า (ทางหลวงหมายเลข 225) เลี้ยวขวาเข้าสู่ริมหนองปลาเฒ่า ที่ริมน้ำแห่งนี้มีต้นมะขามใหญ่ วึ่งกล่าวกันว่า เจ้าพระยาแลถูกทหารเวียงจันทน์ฆ่าที่นี่เมื่อปี พ.ศ. 2369 มีศาลสร้างด้วยไม้ตั้งอยู่ใต้ต้นมะขาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ชาวจังหวัดชัยภูมิได้พร้อมใจกันสร้างศาลพระยาภักดีชุมพล ขึ้นประดิษฐานรูปหล่อของท่านไว้ภายใน เพื่อเป็นที่เคารพสีกการะของชาวเมืองชัยภูมิ ทุกปีจะมีงานสักการะเจ้าพ่อพระยาแล ตั้งแต่วันพุธแรกของเดือน 6 มีกำหนด 7 วัน 7 คืน

อุทยานแห่งชาติตาดโตน
ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเทือกเขาภูแลนคา มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 134,737.50 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2523 เป็นต้นกำเนิดของน้ำตกผาเอียง น้ำตกตาดกลาง และน้ำตกตาดโตน ผู้ประสงค์จะเข้าพักในบริเวณอุทยานฯ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและจองบ้านพักล่วงหน้าได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 579-7223, 5795734

การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 2051 จากตัวเมืองถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ถนนราดยางตลอดสาย

น้ำตกตาดโตน
เป็นน้ำตกที่มีลานหินกว้างลดหลั่นเป็นชั้นๆ สวยงามมาก ในฤดูน้ำหลากประมาณเดือนเมษายน-กันยายน จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนและเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ศาลเจ้าพ่อตาดโตน (ด้วง)
ตั้งอยู่ในบริเวณน้ำตกตาดโตน เป็นที่นับถือบูชาของชาวชัยภูมิและจังหวัดใกล้เคียง เดิมเจ้าพ่อตาดโตนเป็นคนเชื้อสายเขมรอพยพเข้าเมืองไทย ในเวลาใกล้เคียงกับพ่อพระยาแล (พระยาภักดีชุมพล) ในช่วงที่ท่านอยู่เมืองไทย ท่านบำเพ็ญตนเป็นชีปะขาวยึดมั่นในสมถะกรรมฐาน ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และช่วยรักษาคนไข้ เป็นที่นับถือเลื่อมใสของราษฎรมาก เมื่อท่านถึงแก่กรรมจึงสร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพสักการะของลูกหลานและ ประชาชนโดยทั่วไป โดยได้สร้างศาลไว้หลายแห่ง เช่น ศาลเจ้าพ่ออาจารย์ด้วง หรือศาลปู่ด้วงที่ช่องสามหมอ ศาลปู่ด้วงที่วัดพระพุทธชัยภูมิพิทักษ์ และศาลเจ้าพ่อตาดโตน (ด้วง) ที่บริเวณน้ำตกตาดโตน และปัจจุบันมีประเพณีรำผีฟ้า ผีทรงบวงสรวงเจ้าพ่อเป็นประจำทุกวันพุธ และมีการบวงสรวงใหญ่ปีละ 4 ครั้ง

ปรางค์กู่
ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 3 กิโลเมตร คือ จากจังหวัดชัยภูมิมาตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวขวาเข้าปรางค์กู่เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร

ปรางค์กู่เป็นปราสาทอีกแห่งหนึ่ง ที่มีแผนผังและลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทที่ได้พบหลักฐานว่าเป็นอโรคยาศาล ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 นั่นคือ มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์ วิหารหรือบรรณาลัยด้านหน้า 1 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีโคปะรุเฉพาะด้านหน้าทั้งหมดก่อด้วยศิลาแลง ยกเว้นกรอบประตูหน้าต่าง ทับหลัง เสาประดับเป็นหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก นอกกำแพงตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ 1 สระ ยังคงสภาพสมบูรณ์ดีมาก โดยเฉพาะปรางค์ประธานซึ่งมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 5 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีประตูเข้าออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก เหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือยังคงมีทับหลังติดอยู่ จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิเหนือหน้ากาล ซึ่งจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ด้านข้างทางซ้ายและขวาจำหลักรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร กับรูปนางปรัชญาปารมิตา ด้านหน้ายังมีทับหลังเช่นกัน สันนิษฐานว่าสลักเป็นภาพเดียวกัน แต่ปัจจุบันลบเลือนมาก ที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือยังมีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวารวดี ขนาดสูง 1.75 เมตร หน้าตักกว้าง 75 เมตร ประดิษฐานอยู่ 1 องค์ ซึ่งเป็นของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น นอกจากนี้ยังพบทับหลังและองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอื่นๆ เช่น เสาประดับประตู

ภูแฝด
เป็นเนินเขาเตี้ยๆ มีรอยพระพุทธบาทในก้อนหินคล้ายๆ พระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ในท้องที่ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง หางจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 18 กิโลเมตร (เส้นทางเดียวกับภูพระ) แยกขวาเข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร มีต้นไทร สนฉัตร ต้นจำปา และพันธุ์ไม้นานาชนิด ทางเข้าวัดทั้งสองข้างมีต้นไม้ร่มรื่นยิ่งนัก หากจะชมรอยพระพุทธบาทสามารถขอกุญแจจากแม่ชีที่วัดได้

ภูพระ
ตั้งอยู่ที่บ้านนาไกเซา ตำบลนาเสียว การเดินทางจากตัวเมืองชัยภูมิ มาตามทางหลวงหมายเลข 201 (ชัยภูมิ-ภูเขียว) ประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามทางสายนาเสียว-ห้วยชัน เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงแยกซ้ายเข้าวัดศิลาอาสน์ (ภูพระ) อีกประมาณ 1 กิโลเมตร รถยนต์แล่นได้ตลอดถึงลาดเขาเป็นทางลูกรังอัดแน่น

ภูพระ เป็นภูเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง ที่ผนังของลาดเขาจำหลักเป็นภาพพระพุทธรูปกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคือที่มาของชื่อเขาภูพระ ด้านซ้ายจำหลักเป็นพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่งประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตัดกว้าง 5 ฟุต สูง 7 ฟุต พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้ายพาดอยู่ที่พระชงฆ์ (พระหัตถ์อยู่ในท่าตรงข้ามกับปางมารวิชัย) เรียกกันว่า พระเจ้าตื้อ ถัดมาด้านซ้ายมือมีลักษณะเป็นเสาหิน รอบเสาจำหลักเป็นพระพุทธรูปอีก 7 องค์ ประทับนั่งเรียงแถวขนาดใหญ่เล็กลดหลั่นกัน ปางสมาธิ 5 องค์ ปางเดียวกับพระเจ้าตื้อ 2 องค์ ล้วนขัดสมาธิเพชร นอกจากนี้ระหว่างกลางที่ผนังยังมีพระพุทธรูปสลักลักษณะเดียวกันอีก 1 องค์ ขนาดเล็กสูงประมาณ 7 นิ้ว

พระพุทธรูปเหล่านี้มีพระพุทธลักษณะเป็นแบบพระพุทธรูปอู่ทอง มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 ร่วมสมัยอยุธยาตอนต้น ทุกๆ ปีมีงานนมัสการพระพุทธรูปที่ภูพระ ในกลางเดือน 5 เริ่มต้นวันขึ้น 14 ค่ำ รวม 3 วัน ทุกปี

ใบเสมาบ้านกุดโง้ง
ตำบลกุดต้ม การเดินทางจากจังหวัดชัยภูมิตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงบ้านกุดตุ้ม เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางสายกุดตุ้ม-บุ้งคล้า เข้าไปตามทางจนถึงหมู่บ้านกุดโง้ง และต่อไปถึงวัดกุดโง้ง

วัดกุดโง้ง
เป็นสถานที่รวบรวมใบเสมาที่พบในบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน โดยนำมาเก็บรักษาไว้ในอาคารไม้ที่ปลูกสร้างทางด้านซ้ายของโรงเรียนบ้านกุด โง้ง ใบเสมาทั้งหมดทำด้วยหินทราย มีลักษณะเป็นแผ่นขนาดค่อนข้างใหญ่ ปลายมนแหลม ด้านหน้าจำหลักลายและบางแผ่นมีจารึกอยู่ที่ด้านหลังด้วย เฉพาะที่สลักลวดลายเก็บรักษาไว้ในอาคาร ชนิดแผ่นเรียบและรูปสถูปปักไว้ที่พื้นด้านนอก ลวดลายที่ปรากฎบนใบเสมามักเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาเล่าเรื่องชาดกตอนต่างๆ เช่น พรหมนารอทชาดก หรือเป็นภาพรูปเคารพ เช่น ภาพพระโพธิสัตว์ประทับยืนบนดอกบัว ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ หรือรูปสถูปซึ่งมักปักดินอยู่นอกอาคารเห็นเพียงยอดสถูป ส่วนองค์ระฆังรูปหม้อน้ำคงจะฝังอยู่ใต้ดิน นับเป็นกลุ่มเสมาที่สวยงามแห่งหนึ่งในอีสาน นอกจากนี้ระหว่างทางเข้าหมู่บ้านซ้ายขวาของถนน ยังมีเสมาหินทรายขนาดต่างๆ กันปักอยู่เป็นระยะ

น้ำตกผาเอียง
อยู่ในท้องที่อำเภอเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 32 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2159 (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง) เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีลักษณะเป็นหน้าผาเอียงตัดลำห้วย และทำให้น้ำตกเอียงเข้าทางผาด้านใดด้านหนึ่ง เป็นน้ำตกที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติตาดโตน ที่ลำห้วยชีลอง บริเวณรอบน้ำตกนี้เป็นป่าดงดิบแล้งค่อนข้างหนาทึบ และยังมีไม้ขนาดใหญ่อยู่มาก ทำให้บรรยากาศร่มรื่น เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างยิ่ง

น้ำตกตาดฟ้า
ตาดฟ้าหรือถ้ำเตี้ย เป็นถ้ำเล็กๆ อยู่เชิงเขาภูอีเฒ่า และมีน้ำตกเป็นลานหินลาดชันกว้างประมาณ 15-20 เมตร ยาวโดยตลอด 80-90 เมตร ลาดชันประมาณ 30 องศา มีน้ำไหลตลอดปี มีแอ่งน้ำให้อาบหรือเล่นได้ อยู่ในท้องที่ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง ห่างจากจังหวัดไปทางทิศเหนือ ประมาณ 25 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 201

สระหงษ์
อยู่ในบริเวณวัดเขาสระหงษ์ เป็นสระโบราณอยู่กลางเนินเขาเตี้ยๆ กว้างประมาณ 5 วา ห่างจากสระนี้ประมาณ 3 เมตร มีหินก้อนหนึ่งลักษณะคล้ายรูปหงษ์ ซึ่งเป็นเองโดยธรรมชาติ อยู่ในท้องที่ตำบลตาเสียว อำเภอเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2051 ทางด้านซ้ายมือ (ทางแยกเข้าอ่างเก็บน้ำช่อระกา)

อ.อื่นๆ

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอบ้านเขว้า
(ทางหลวงหมายเลข 225)

บ้านเขว้า
เป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหม และผ้าฝ้ายที่มีคุณภาพดี ลวดลายสวยงามแห่งหนึ่งในภาคอีสาน โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในหมู่ผู้ที่นิยมใช้ผ้า พื้นเมืองของไทย อำเภอบ้านเขว้าอยู่ห่างจากอำเภอเมืองชัยภูมิประมาณ 13 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 225 นอกจากนั้นบริเวณหนองใหญ่ในอำเภอบ้านเขว้ายังเป็นที่อยู่ของนกเป็ดน้ำ ซึ่งอพยพย้ายที่อยู่อาศัยวางไข่ในประมาณเดือนตุลาคม-มกราคม อีกด้วย

กู่แดง
ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาดแร้ง การเดินทางจากตัวจังหวัดชัยภูมิ มาตามทางหลวงหมายเลข 225 ผ่านอำเภอบ้านเขว้าจนถึงบ้านหลุมโพธิ์ประมาณ 30 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปบ้านกุดยางประมาณ 8 กิโลเมตร กู่แดงตั้งอยู่ภายในวัดกุดยาง (กู่แดง)

กู่แดง เป็นโบราณสถานแบบขอมอีกแห่งหนึ่ง เป็นอาคารหลังเดียว ปัจจุบันคงเหลือเพียงฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ก่อสูงด้วยศิลาแลง มีร่องรอยบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน ตัวอาคารผนังก่ออิฐแต่หักพังหมด คงเหลือเสากรอบประตูทั้ง 4 ด้าน และยังพบทับหลังซึ่งตกอยู่ที่พื้นด้านทิศตะวันออก สลักเป็นภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับช้าง ส่วนทางด้านเหนือถูกดัดแปลงไปบ้างโดยทางวัดได้สร้างพระพุทธรูปประทับนั่ง พร้อมบันไดทางขึ้นครอบอาคารเดิม โบราณสถานแห่งนี้ประมาณอายุจากลวดลายทับหลังราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะเขมรแบบบาปวน

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอภูเขียว
(ทางหลวงหมายเลข 201)

ศูนย์รวมไม้ดัดบ้านแข้
อยู่บนทางหลวงหมายเลข 201 จากตัวเมืองชัยภูมิก่อนถึงอำเภอภูเขียวประมาณ 1 กิโลเมตร สองข้างทางจะเป็นแหล่งจำหน่ายไม้ดัด ซึ่งเป็นไม้ประดับที่สวยงามมาก เป็นอาชีพของชาวบ้านแคร่โดยเฉพาะ โดยนำไม้ประเภทข่อย มะสัง ตะโก จากในป่าลึกๆ นำมาดัดให้เป็นรูปทรงที่สวยงาม และจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยาว์แก่นักเดินทางที่ผ่านไปมา เพื่อนำมาประดับบ้าน

พระธาตุหนองสามหมื่น
หรือ พระธาตุบ้านแก้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านแก้ง การเดินทางจากจังหวัดชัยภูมิตามทางหลวงหมายเลข 201 ประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงสี่แยกเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 201 สู่อำเภอภูเขียว เลยไปจนถึงบ้านหนองสองห้อง ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2055 ประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงบ้านแก้ง เลี้ยวซ้ายเข้าวัดบ้านแก้งอีกประมาณ 5 กิโลเมตร องค์พระธาตุตั้งอยู่ภายในวัด

พระธาตุสามหมื่น
เรียกชื่อตามหนองน้ำสามหมื่น ซึ่งตั้งห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด เป็นพระธาตุที่มีลักษณะสวยงาม และสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากลักษณะทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างล้านนา ล้านช้าง และอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชแห่งราชอาณาจักรลาว

พระธาตุสามหมื่นมีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ 32.70 เมตร สูงถึงยอดประมาณ 45.30 เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน เหนือฐานเขียงเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายรองรับองค์พระธาตุ ซึ่งมีซุ้มทั้งสี่ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง และปางลีลา ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า รูปแบบดังกล่าวอาจเปรียบเทียบได้กับพระธาตุอื่นๆ ทั้งในนครเวียงจันทน์และในเขตไทย เช่น พระธาตุวัดเทพพล เมืองเวียงคุก จังหวัดหนองคาย พระธาตุศรีเมือง นครเวียงจันทน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ บริเวณที่ตั้งพระธาตุสามหมื่น แต่เดิมก็เคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่มีขนาดใหญ่เมืองหนึ่งอายุราวพุทธ ศตวรรษที่ 12-16 ด้วยปรากฏร่องรอยของคูน้ำคันดิน และโคกเนินโบราณสถานหลายแห่ง โบราณวัตถุสำคัญที่พบทั้งในและนอกเขตคูเมืองหลายชิ้นได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่ วัด เช่น กลุ่มใบเสมาหินทราย บางแผ่นก็มีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 และมีแผ่นหนึ่งนำไปตั้งเป็นหลักเมืองประจำอำเภอภูเขียวด้วย นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมรูปเคารพอีก 2 ชิ้น สภาพชำรุดชิ้นหนึ่งคล้ายเศียรพระพุทธรูปนาคปรกในศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 พระธาตุสามหมื่นและบริเวณโดยรอบแห่งนี้จึงนับว่ามีความสำคัญและน่าสนใจมาก แห่งหนึ่ง

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอเทพสถิต
(ทางหลวงหมายเลข 201, 205)

อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม
เป็นปาที่มีหินก้อนใหญ่ๆ รูปร่างแปลกๆ กระจายอยู่เต็มไปหมด เป็นบริเวณกว่า 200 ไร่ มีต้นไม้เล็กใหญ่และกล้วยไม้ต่างๆ ขึ้นเต็มบริเวณ หินบางกลุ่มมีรูปร่างเหมือนตาปู บางกลุ่มมีรูปร่างเหมือนหัวพญานาค และบางกลุ่มเหมือนปราสาทโบราณ ในฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน มีดอกไม้ป่าชื่อดอกกระเจียว มีสีชมพูอมม่วง ขึ้นอยู่เต็มบริเวณนั้น ลักษณะดอกกระเจียวคล้ายๆ ดอกข่าสวยงามมาก ส่วนหน้าหนาวประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม มีดอกกล้วยไม้สีเหลืองขึ้นตามซอกหินและมีดอกไม้ป่าหลายชนิดอยู่ในบริเวณนั้น

การเดินทาง จากตัวเมืองชัยภูมิไปตามเส้นทางสายชัยภูมิ-บ้านหนองบัวโคก (ทางหลวงหมายเลข 201) แล้วเลี้ยวขวาที่ทางแยกบ้านหนองบัวโคก เข้าเส้นทางสายหนองบัวโคก-ชัยบาดาล (ทางหลวงหมายเลข 205) ถึงอำเภอเทพสถิต ระยะทางประมาณ 112 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าป่าหินงามอีก 29 กิโลเมตร

น้ำตกเทพพนม
เป็นน้ำตกขนาดกลาง อยู่ในบริเวณป่าทึบ อากาศร่มเย็นสบาย น้ำจะมากระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ลักษณะของน้ำตกจะมีรูปร่างแปลกๆ มีหลายมุมต่างๆ กัน น้ำตกเทพพนมอยู่ห่างจากอำเภอเทพสถิตประมาณ 48 กิโลเมตร

น้ำตกเทพประทาน
เป็นน้ำตกขนาดกลาง ลักษณะค่อนข้างแบน มีหินขนาดใหญ่เป็นลานกว้างลดหลั่นกันลงไปเป็นชั้นเตี้ยๆ และมีตอนที่สูงชันอยู่แห่งหนึ่ง มีน้ำมากระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม อยู่ห่างจากอำเภอเทพสถิตประมาณ 34 กิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติไทรทอง
มีเนื้อที่ 199,375 ไร่หรือ 319 ตารางกิโลเมตร อยู่ในท้องที่ 4 อำเภอ คือ อ.หนองบัวระเหว อ.เทพสถิต อ.ภักดีชุมพล อ.หนองบัวแดง เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำห้วยโปร่งขุนเพชร ลำห้วยเชียงทา ลำห้วยแข้ ลำห้วยยา ลำน้ำเจา ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สวยงาม ภายในอุทยานฯ มีสถานที่น่าสนใจคือจุดชมวิวบนเทือกเขาพังเหย สูงจากระดับน้ำทะเล 1,008 เมตร เป็นหน้าผาสูงชันระยะทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีลานหิน ทุ่งดอกกระเจียวหลากสีให้ชมปีละครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน- สิงหาคม สามารถใช้จักรยานภูเขาหรือตั้งแคมป์พักแรมบนทุ่งหญ้าได้

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอคอนสาร
(ทางหลวงหมายเลข 201 และ 12)

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
อยู่บนเส้นทางที่จะเข้าเขื่อนจุฬาภรณ์ ระหว่างกิโลเมตรที่ 24-25 ทางด้านซ้ายมือ พื้นที่ครอบคลุมเขตป่าเขาของอำเภอคอนสาร เกษตรสมบูรณ์ และหนองบัวแดง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ เป็นศูนย์ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า การเพาะเลี้ยงและการขยายพันธุ์สัตว์ป่าประเภทสัตว์ปีกและสัตว์กีบ เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง เก้ง กวาง กระจง เป็นต้น โดยจัดที่อยู่ให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด และทำทางเดินให้ผู้ที่สนใจและรักธรรมชาติได้เข้าไปศึกษาชีวิตสัตว์เหล่านั้น ด้วย การเข้าชมถ้าเป็นคณะใหญ่ๆ ต้องขออนุญาตจากหัวหน้าเขตที่หน้าประตูทางเข้าก่อน เพราะในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องการความเงียบ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องชีวิตสัตว์เท่านั้น

ทุ่งกระมัง
เป็นที่ราบกว้างใหญ่ซึ่งประกอบด้วยทุ่งหญ้า ซึ่งเรียกว่า “หญ้าสะบัด” กว้างขวางเขียวขจี ล้อมรอบด้วยภูเขาในเนื้อที่กว่า 1 ล้านไร่ อยู่ในเขตอำเภอคอนสาร ภูเขียว และเกษตรสมบูรณ์ เป็นโครงการในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าและนำสัตว์ป่าคืนถิ่น เพราะในบริเวณนั้นมีสัตว์ประเภท เก้ง กวาง กระจง และนกต่างๆ ชุกชุม ได้มีการนำเอาดินโป่งใส่ไว้เป็นจุดๆ ใกล้อ่างเก็บน้ำเพื่อให้สัตว์มากินดินโป่งนั้น สำหรับทุ่งหญ้าเขียวขจีนั้นก็เป็นอาหารของเก้งและกวางในฤดูร้อน บางครั้งมีไฟป่าพัดมาทำให้ต้นหญ้าถูกไฟป่าไหม้หมด แต่เมื่อถึงเวลาฝนตกลงมา ต้นหญ้าก็จะแตกต้นอ่อนขึ้นมาเขียวอีกครั้งเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ต่อไป บนยอดเนินเหนือบริเวณทุ่งกะมัง มีพระตำหนักที่ประทับอยู่เหนืออ่างน้ำ การเดินทางไปทุ่งกะมังใช้เส้นทางเดียวกับเส้นทางที่จะไปเขื่อนจุฬาภรณ์ ก่อนถึงอำเภอคอนสารประมาณ 50 เมตร มีทางราดยางแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 70 กิโลเมตร ในฤดูฝนการเดินทางโดยทั่วไปไม่สะดวก ถ้าจะเข้าไปชมควรใช้รถที่มีกำลังสูง เช่น โฟรวิล ไดร์ฟ (Four Wheels Drive)

เขื่อนจุฬาภรณ์ (เขื่อนน้ำพรม)
ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร ปิดกั้นลำน้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย ซึ่งเรียกบริเวณนั้นว่าภูหยวก ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนกลางเป็นดินเหนียว ตัวสันเขื่อนยาว 700 เมตร ความสูงจากฐานราก 70 เมตร เป็นลักษณะเขื่อนเอนกประสงค์ใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า พลังน้ำเฉลี่ยปีละ 140 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในภาคอีสานได้อย่างเพียงพอ นอกจากนั้นยังช่วยในด้านเกษตรกรรมและในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนยังเป็นแหล่ง เพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดอีกด้วย

บริเวณเขื่อนมีทิวทัศน์ที่งดงามมาก อากาศเย็นสบายตลอดปี จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ภายในบริเวณเขื่อนมีบ้านพักไว้รับรองนักท่องเที่ยว เรือสำหรับให้ล่องชมอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นเรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีจุดชมวิวทิวทัศน์เหนือเขื่อน และศูนย์ทดลองพืชเมืองหนาว ซึ่งประกอบด้วยไม้ดอก ไม้ผลที่หาชมได้ยากในภาคอีสานไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมอีกด้วย

น้ำผุดนาเลา
เป็นลักษณะที่น้ำจากใต้ดินผุดขึ้นมาแล้วไหลเป็นลำธารไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ เพาะปลูกต่างๆ น้ำใสไหลตลอดทั้งปี บริเวณที่น้ำผุดขึ้นมาเป็นแอ่งเล็กบ้างใหญ่บ้าง สวยงามแปลกตา น้ำผุดนาเลาอยู่หลังโรงเรียนคอนสารวิทยา ห่างจากสี่แยกป้อมตำรวจไปทางอำเภอหล่มสักประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนลูกรังอีก 500 เมตร เลี้ยวซ้ายอีกครั้งหนึ่งไปอีกประมาณ 100 เมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำผุด มีต้นไม้ใหญ่ๆ และศาลาเก่าๆ สำหรับนั่งพักผ่อน

น้ำผุดทับลาว
อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านผาเบียด ห่างจากสี่แยกป้อมตำรวจประมาณ 11 กิโลเมตร โดยไปตามถนนที่จะไปสู่เขื่อนจุฬาภรณ์ประมาณ 8 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังอีกประมาณ 3 กิโลเมตร

น้ำผุดนาวงเดือน
อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านนาวงเดือน ห่างจากสี่แยกป้อมตำรวจไปตามถนนที่ไปเขื่อนจุฬาภรณ์ แล้วแยกขวามือเข้าบ้านนาวงเดือนประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นน้ำผุดขนาดใหญ่

น้ำผุดหินลาดวนารมย์
หรือน้ำผุดหินลาด อยู่ที่บ้านน้ำพุหินลาด ตำบลทุ่งพระ ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศเหนือประมาณ 6 กิโลเมตร มีธรรมชาติร่มรื่นเย็นสบาย

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอภักดีชุมพล

ถ้ำแก้ว
อยู่ห่างจากถ้ำพระประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นถ้ำขนาดใหญ่ อยู่บนเทือกเขาวัวแดง อีกด้านหนึ่งมีหินงอกหินย้อยเป็นแก้วแวววาวสวยงามมาก

ถ้ำประทุน
เป็นถ้ำขนาดกลาง อยู่บนยอดเขาวัวแดง เคยเป็นที่พักทัพของแม่ทัพสมัยโบราณ เคยมีแร่ทองคำและมีบ่อร่อนแร่ปรากฏอยู่ทั่วไปบริเวณหน้าถ้ำ

ถ้ำวัวแดง
เป็นถ้ำใหญ่ที่สวยงามน่าเที่ยวของจังหวัด ตั้งอยู่ในตำบลนางแดด อำเภอหนองบัวแดง ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 60 กิโลเมตร การเดินทางไปถ้ำวัวแดงยังไม่สะดวก ต้องเดินป่าฝ่าดง แต่ได้เที่ยวป่าอย่างสนุก ในบริเวณถ้ำวัวแดงมีถ้ำใหญ่น้อยหลายแห่ง เช่น ถ้ำยายชี ถ้ำบ่อทอง เป็นต้น

ถ้ำพระ
เป็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่บนเทือกเขาวัวแดง มีหลายซอกหลายมุมน่าสนใจ มีศาลาสร้างไว้ในถ้ำ เคยมีพระธุดงค์อาศัยอยู่และมรณภาพไปแล้ว ปัจจุบันมีหลวงพ่อองค์หนึ่งจำพรรษาอยู่ อยู่ในตำบลแหลมทอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอภักดีชุมพลประมาณ 20 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอคอนสวรรค์

บึงแวง
เป็นบึงขนาดกลาง เนื้อที่ประมาณ 350 ไร่ รูปร่างค่อนข้างกลม มีถนนวงแหวนสามารถขับรถได้รอบบึง ในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนเมษายน จะมีนกเป็ดน้ำอพยพจากที่อื่นมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 40,000 ตัว ยามเย็นเวลาโพล้เพล้นกเป็ดน้ำจะโผบินขึ้นเป็นฝูงๆ เต็มท้องฟ้า ตัดกับแสงอาทิตย์อัสดงสวยงามมาก อยู่หน้าที่ว่าการอำเภอคอนสวรรค์ ห่างจากจังหวัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 38 กิโลเมตร

พระพุทธรูปใหญ่สมัยทวารวดี
อยู่ที่วัดคอนสวรรค์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอคอนสวรรค์ ไปทางทิศตะวันออก 5 กิโลเมตร (ทางแยกสถานีส่งน้ำบ้านหนองป่าบึก) เป็นถนน รพช. เป็นพระพุทธรูปหินทรายแกะสลัก องค์ใหญ่รูปทรงสวยงาม สร้างในสมัยทวารวดี ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” นอกจากพระพุทธรูปแล้ว ยังมีใบเสมาหินทราย ที่มีการแกะสลักและไม่แกะสลักอีกหลายชิ้น

ไร่นลินทวัส
อยู่กิโลเมตรที่ 28 ถนนชัยภูมิ-ภูเขียว (ทางหลวงหมายเลข 201) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการ มีไม้ประดับนานาชนิด นอกจากนั้นยังมีกิ่งพันธุ์ไม้ต่างๆ เช่น ขนุน มะม่วง ไม้ประดับไว้จำหน่ายอีกด้วย และที่น่าสนใจคือ มีเกวียนจากภาคต่างๆ ของไทยสะสมไว้มากมาย ซึ่งหาชมได้ยาก เกวียนบางกลุ่มมีอายุนับร้อยปี อีกทั้งยังมีการแกะสลักอย่างงดงามยิ่ง

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอหนองบัว

ผาเกิ้ง
เป็นภูเขาที่หินใหญ่ยื่นออกมาข้างทาง ทิวทัศน์สวยงามมาก เป็นสถานที่ชมวิวจุดหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ บนภูเขานี้มีพระพุทธรูปชัยภูมิพิทักษ์ขนาดใหญ่องค์ยืนสูง 14 ฟุต ประดิษฐานอยู่ในเขตอำเภอหนองบัวแดง เป็นส่วนหนึ่งของภูแลนคาที่มีบริเวณกว้างพอสมควร ผาเกิ้งอยู่ในบริเวณวัดชัยภูมิพิทักษ์ (ผาเกิ้ง) อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 2159 (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง) ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ :
โรงพยาบาลชัยภูมิ โทร. 0 4481 1005-8
ศูนย์บริการข่าวสารการท่องเที่ยวจังหวัดชัยภูมิ โทร. 0 4481 2516, 0 4481 1376
สำนักงานจังหวัดชัยภูมิ โทร. 0 4481 1573
สถานีขนส่งชัยภูมิ โทร. 0 4481 1493
สถานีตำรวจ โทร. 0 4481 1242

0 ความคิดเห็น: